แนะนำคัมภีร์
โดย ... พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ
*****
*****
ปราชญ์ชาวพม่าในสมัยก่อนผู้รู้เห็นคุณค่าของไวยากรณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งทางศาสนาและสันสกฤต
จึงแต่งคัมภีร์ไวยากรณ์จำนวนมากเพื่อความสถิตสถาพรแห่งพระสัทธรรมตลอดกาลนาน
คัมภีร์เหล่านั้นที่แต่งเป็นไวยากรณ์ใหญ่ที่มีสูตรกำกับ, ไวยากรณ์น้อยที่ไม่มีสูตรกำกับ, คัมภีร์นิสสัยแปลพม่า, คัมภีร์แต่งอธิบายเป็นภาษาพม่า, หนังสือถามตอบ
และกลอนสี่เกี่ยวกับไวยากรณ์ มีมากมายนับร้อยคัมภีร์
เท่าที่สามารถสืบค้นได้ในปัจจุบันมี ๓๔๘ คัมภีร์ คือ
คัมภีร์ที่แต่งด้วยภาษาบาลี
มี ๑๓๔ ฉบับ
คัมภีร์นิสสัยแปลพม่า
มี ๑๓๐ ฉบับ
คัมภีร์แต่งอธิบายเป็นภาษาพม่า
มี ๘๔ ฉบับ
นอกจากคัมภีร์ที่ระบุมาในที่นี้แล้ว
ยังมีคัมภีร์จำนวนมากที่ไม่อาจสืบค้นได้ กระนั้นก็ตาม
จากการสังเกตจำนวนคัมภีร์เหล่านี้ทำให้ทราบว่าไวยากรณ์เป็นศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรืองในประเทศนี้เป็นอย่างมาก
และแสดงให้ทราบถึงใจรักพระศาสนาของโบราณาจารย์ที่ได้ธำรงรักษ์พระศาสนาด้วยการแต่งไวยากรณ์เพื่อความเข้าใจหลักภาษาอย่างถูกต้อง
นับว่าสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะถือเอาเป็นแบบอย่างต่อไป
คัมภีร์นิรุตติทีปนี
ในบรรดาไวยากรณ์บาลีที่แต่งนับร้อยคัมภีร์เหล่านั้น
คัมภีร์นิรุตติทีปนีเป็นไวยากรณ์ฉบับสุดท้าย
ซึ่งตามปกติตำราที่แต่งในภายหลังมักจะทันสมัยกว่าตำราที่แต่งไว้ก่อน
วิธีสังเกตคุณค่าของคัมภีร์แบ่งออกเป็น ๓
อย่าง คือ
๑. ความสามารถของผู้แต่งคัมภีร์
๒. เหตุของการแต่งคัมภีร์
๓. ลักษณะการแต่งคัมภีร์
ความสามารถของผู้แต่งคัมภีร์
ท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้มีฉายาว่า
พระญาณธชะ ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า แลดีสยาดอ (อาจารย์แลดี) ท่านเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งประวัติศาสตร์ต้องจารึกชื่อไว้
ท่านเกิดในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งเป็นสมัยที่นักประวัติศาสตร์บันทึกว่าวิทยาการสมัยใหม่เริ่มเจริญก้าวหน้าในขณะนั้น
ความจริงพระพุทธศาสนาได้เผยแพร่มาถึงประเทศพม่าตั้งแต่สมัยตะโถงและสมัยพุกามเรื่อยมาจนถึงสมัยมันดเลย์ในราวพุทธศตวรรษที่
๑๕ จึงทำให้มีตำราที่ปราชญ์ในสมัยก่อนได้แต่งไว้จำนวนมาก
ซึ่งเป็นคัมภีร์นิสสัยที่แปลบาลีคำต่อคำบ้าง เป็นคัมภีร์แปลเป็นภาษาพม่าล้วนๆ บ้าง
อย่างไรก็ตาม
ชาวบ้านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาบาลีได้เพียงแต่สดับเรื่องทาน ศีล
หรือคัมภีร์ชาดกเท่านั้น ไม่อาจเรียนรู้พระอภิธรรมที่เกี่ยวกับขันธ์ อายตนะ ธาตุ
และสัจจะ พร้อมทั้งไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาอย่างถูกต้อง
แต่การอุบัติขึ้นในโลกและการแสดงพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์โดยทั่วไป
มิใช่มุ่งหมายเฉพาะผู้ที่มีความรู้ในภาษาบาลีเท่านั้น
ในสมัยที่ประเทศชาติต้องการผู้มีความรู้ที่สามารถแนะนำพระอภิธรรมและหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องนี้
พระญาณธชะได้อุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่มวลชน
ท่านได้แต่งคัมภีร์ทีปนีและคัมภีร์สังเขป
เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้พระอภิธรรมและหลักการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ทั้งยังแสดงธรรมและเปิดหลักสูตรพระอภิธรรมทั่วประเทศอีกด้วย
ท่านเป็นพระเถระผู้เพียบพร้อมด้วยปริยัติและปฏิบัติ
ได้ศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา พร้อมทั้งคัมภีร์อื่นๆ โดยถี่ถ้วน
ทั้งยังได้พากเพียรปฏิบัติธรรมด้วยตนเองจนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ
ท่านจึงสามารถแนะนำบุคคลอื่นในปริยัติและปฏิบัติเป็นอย่างดี
คัมภีร์บาลีที่ท่านแต่ง
เช่น นิรุตติทีปนี ปรมัตถทีปนี ได้ประพันธ์ด้วยถ้อยคำสละสลวยเข้าใจง่าย
แม้คัมภีร์ทีปนีที่แต่งเป็นภาษาพม่า เช่น โพธิปักขิยทีปนี อุตตมปุริสทีปนี
ก็ใช้คำที่สละสลวยเข้าใจง่ายเช่นเดียวกัน อนึ่ง ในการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์
ท่านได้แต่งปรมัตถสังเขปซึ่งประมวลข้อความจากคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะไว้ทั้งหมด
และแต่งวินัยสังเขปที่ประมวลข้อความที่สำคัญจากพระวินัยปิฎกและอรรถกถา
บทประพันธ์ที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองของท่านได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจวนจนปัจจุบัน
จึงกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาบาลีและพม่าอย่างครบถ้วน
ท่านมักเดินทางไปแสดงพระธรรมเทศนาในจังหวัดต่างๆ
ทั่วประเทศ ทั้งเปิดหลักสูตรสอนพระอภิธรรมและวิปัสสนาภาวนา
ในขณะเดียวกันก็แต่งคัมภีร์ทั้งบาลีและพม่า
ท่านจึงจัดว่าเพียบพร้อมด้วยความสามารถในการพูดและการเขียนทั้งสองอย่าง
นอกจากนี้
ท่านยังเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสามารถและการแสดงออก เช่น
คัมภีร์ฎีกาของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะที่ชื่อว่า อภิธัมมัตถวิภาวินี
ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า ฎีกาหละ (ฎีกางาม) หรือฎีกาจ่อ (ฎีกาลือชื่อ) เป็นตำราที่บุรพาจารย์ชาวพม่าได้นิยมศึกษาเล่าเรียนมานานนับพันปี
แต่ท่านพบข้อบกพร่องโดยศัพท์และความหมาย จึงประพันธ์คัมภีร์ “ปรมัตถทีปนี” เพื่อชี้แจงความถูกต้อง
โดยมุ่งศาสนประโยชน์เป็นหลัก
ในคัมภีร์นั้นท่านได้แสดงสาธกอ้างอิงแล้วคัดค้านมติของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี
ในขณะนั้นผู้ทรงความรู้ชาวพม่าที่เป็นทั้งพระภิกษุและฆราวาสจำนวนมากได้ออกมากล่าวคัดค้านและเขียนตำราโต้ตอบ
ด้วยความยึดติดในความเชื่อเดิมๆ
หรือด้วยความสำคัญว่าทรรศนะของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีถูกต้องแล้ว
แต่ท่านมิได้หวั่นไหวต่อเรื่องนี้ ทั้งได้แต่งคัมภีร์ “อนุทีปนี” เพื่ออธิบายคัมภีร์ปรมัตถทีปนีอีกทอดหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าท่านเพียบพร้อมด้วยความสามารถในการพบเห็นข้อบกพร่องของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี
และเพียบพร้อมด้วยการแสดงออกที่ประกาศความสามารถของตนโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ
คัมภีร์ที่แลดีสยาดอแต่งไว้
เป็นทั้งตำราทางโลกและทางธรรม ตำราทางโลกได้แก่คัมภีร์โรคันตรทีปนี ซึ่งเขียนเรื่องมนต์
คาถา ยันต์ และสมุนไพร พร้อมทั้งคัมภีร์ที่กล่าวถึงพยัญชนะตัวสะกดโดยย่อ เป็นต้น
ส่วนตำราทางธรรมได้แก่คัมภีร์ปฏิจจสมุปปาททีปนี และสัมมาทิฏฐิทีปนี เป็นต้น
คัมภีร์เหล่านี้เป็นเครื่องแสดงว่าท่านเพียบพร้อมด้วยความรู้ทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป
ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
พระเถระรูปหนึ่งที่สนิทสนมกับท่านได้แต่งกาพย์ล้อเลียนไว้ มีข้อความว่า
“แลดีสยาดอเกรงว่าศาสนาจะสูญ
จึงเที่ยวไปในนิคมชนบท นับเป็นความดำริที่ดี
แต่ระวังคัมภีร์สังเขปที่แต่งขึ้นอาจทำให้สังคหะของพระอนุรุทธะสูญพันธุ์
จงคิดให้ดีก่อนจะท่องจำ ต่อจากพระโคตมะมีพระพุทธอีกองค์ชื่อว่า พระโคธะ (เหี้ย) ท่านสงสารวัวควาย แต่อย่าลืมหมูเห็ดเป็ดไก่
สงสารมันด้วย”
แม้ว่ากาพย์บทนี้จะแต่งขึ้นล้อเลียนท่าน
แต่กลับเป็นข้อความที่แสดงถึงคุณธรรมอันสูงส่งของท่านอย่างแท้จริง
การได้รับตำแหน่ง อัครมหาบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิต
ท่านได้รับตำแหน่งอัครมหาบัณฑิต
ในพุทธศักราช ๒๔๕๘ จากรัฐบาลอังกฤษที่เข้ามาปกครองประเทศสหภาพพม่าในสมัยนั้น
และในพุทธศักราช ๒๔๖๔ ท่านได้รับตำแหน่งปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ (สาขาวรรณกรรม) จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าท่านผู้ประพันธ์คัมภีร์นิรุตติทีปนีเป็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสามารถต่างๆ
และมีเกียรติศักดิ์เลื่องลือในประเทศพม่าเป็นอย่างยิ่ง
และจากการที่ผู้แต่งเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้
คัมภีร์นิรุตติทีปนีก็ควรจะเป็นตำราไวยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน
เหตุของการแต่งคัมภีร์
โมคคัลลานไวยากรณ์เป็นตำราต้นฉบับที่คัมภีร์นิรุตติทีปนีนำมาอธิบาย
ท่านสรรเสริญไวยากรณ์ฉบับนี้ไว้ในคำนำภาษาบาลีว่า
“โมคคัลลานไวยากรณ์เป็นคัมภีร์ที่แต่งไว้โดยย่อ
แต่มีเนื้อหากว้างครอบคลุมพระไตรปิฎกและหลักไวยากรณ์สันสกฤตที่เหมาะสมกับพระไตรปิฎก”
ท่านเห็นว่าโมคคัลลานไวยากรณ์จัดเป็นหลักภาษาที่ทรงคุณค่าสมบูรณ์ด้วยนัยที่นำมาจากพระไตรปิฎกและนัยทางไวยากรณ์สันสกฤต
ทั้งเป็นตำราสังเขปที่มีเนื้อหากว้างขวาง
จึงควรจะเขียนคัมภีร์อธิบายโมคคัลลานไวยากรณ์ อนึ่ง
ในประเทศพม่ายังไม่มีตำราอธิบายโมคคัลลานไวยากรณ์โดยละเอียดที่เรียกว่า พยาขยา
ปัญจิกา ฎีกา หรือทีปนี
แม้คัมภีร์ปทสาธนะที่เขียนอธิบายโมคคัลลานไวยากรณ์ก็เป็นตำราสังเขปที่เขียนให้เยาวชนเรียนรู้เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแต่งคัมภีร์นิรุตติทีปนีขึ้น
ความจริงแล้วคัมภีร์อธิบายโมคคัลลานไวยากรณ์ที่เรียกว่า
พยาขยา ปัญจิกา ฎีกา หรือทีปนี ได้รับการแต่งไว้ก่อนแล้วในประเทศลังกา
แต่คัมภีร์เหล่านั้นไม่เหมาะสมกับชาวพม่าที่คุ้นเคยกับไวยากรณ์สายกัจจายนะมานับพันปี
และชื่อเรียกพร้อมทั้งนัยทางไวยากรณ์ของโมคคัลลานไวยากรณ์ก็ต่างกับกัจจายนไวยากรณ์ในบางแห่ง
กล่าวคือ กัจจายนไวยากรณ์กล่าวถึงอักษร ๔๑ เสียง และแสดงถึงชื่อว่า นาม ตัทธิต
อาขยาต กิต แต่โมคคัลลานไวยากรณ์กล่าวถึงอักษร ๔๓ เสียง และแสดงถึงชื่อว่า สยาทิ
ณาทิ ขาทิ ตยาทิ เป็นต้น
ดังนั้นชาวพม่าจึงไม่นิยมเรียนไวยากรณ์สายโมคคัลลานซึ่งใช้ชื่อเรียกต่างจากกัจจายนไวยากรณ์
ในเบื้องแรกแลดีสยาดอเขียนตำราเล่มนี้โดยใช้ชื่อว่า
โมคคัลลานทีปนี เมื่อพระวิสุทธาจาระ (มหาวิสุทธารามสยาดอ) ทราบเรื่องนี้ก็แนะนำว่า
“ชาวพม่าไม่นิยมเรียนโมคคัลลานไวยากรณ์
แม้คัมภีร์นี้จะเป็นคำอธิบายของโมคคัลลานไวยากรณ์ที่แต่งได้ดี แต่ถ้าใช้ชื่อว่า
โมคคัลลานทีปนี ก็จะไม่เป็นที่นิยมของนักศึกษาโดยทั่วไป” ด้วยเหตุนี้ท่านผู้แต่งจึงเปลี่ยนจากชื่อว่า
โมคคัลลานทีปนี เป็น นิรุตติทีปนี
อนึ่ง
เพื่อให้ชาวพม่าซึ่งคุ้นเคยกับชื่อเรียกทางไวยากรณ์สายกัจจายนะได้สามารถเรียนรู้นัยทางไวยากรณ์ที่คุณค่าจากโมคคัลลานไวยากรณ์ได้
ท่านจึงเปลี่ยนชื่อเรียกของโมคคัลลานไวยากรณ์ให้ตรงกับชื่อของที่กล่าวไว้ในกัจจายนไวยากรณ์
ปทรูปสิทธิปกรณ์ และสัททนีติปกรณ์ ดังคำกล่าวของท่านในคำนำบาลีว่า
“ข้าพเจ้าได้ชำระโมคคัลลานไวยากรณ์เป็นอย่างดีแล้ว
ประพันธ์คัมภีร์โมคคัลลานพยากรณทีปนีที่ชื่อว่า นิรุตติทีปนี
ซึ่งเหมือนกับประมวลไวยากรณ์ ๓ ฉบับ คือ กัจจายนไวยากรณ์ ปทรูปสิทธิปกรณ์
และสัททนีติปกรณ์ไว้เป็นคัมภีร์เดียว”
ลักษณะการแต่งคัมภีร์
คัมภีร์นิรุตติทีปนีซึ่งมีความหมายว่า
“เครื่องแสดงไวยากรณ์” เป็นตำราที่มีชื่อตรงกับข้อความในคัมภีร์
กล่าวคือ คัมภีร์นี้แม้เป็นไวยากรณ์สายโมคคัลลานก็หลีกเลี่ยงจากชื่อเรียกและนัยทางไวยากรณ์ที่ชาวพม่าไม่คุ้นเคย
แต่ใช้ชื่อเรียกและนัยทางไวยากรณ์ที่ชาวพม่าคุ้นเคยซึ่งปรากฏในกัจจายนไวยากรณ์
ปทรูปสิทธิปกรณ์ และสัททนีติปกรณ์ เช่น
ชื่อในคัมภีร์โมคคัลลาน ชื่อในคัมภีร์นิรุตติทีปนี
สญฺญาทิกณฺฑ สนฺธิกณฺฑ
สฺยาทิกณฺฑกณฺฑ นามกณฺฑ
(การกกณฺฑ)
อสงฺขฺยตฺถสมาส อพฺยยีภาวสมาส
อมาทิสมาส ตปฺปุริสสมาส
วิเสสนสมาส กมฺมธารยสมาส
อญฺญตฺถสมาส พหุพฺพีหิสมาส
จตฺถสมาส ทฺวนฺทสมาส
ณาทิกณฺฑ ตทฺธิตกณฺฑ
ขาทิกณฺฑ กิตกณฺฑ
ตฺยาทิกณฺฑ อาขฺยาตกณฺฑ
แม้ลำดับกัณฑ์ในคัมภีร์นิรุตติทีปนีก็ต่างจากโมคคัลลานไวยากรณ์
กล่าวคือ โมคคัลลานไวยากรณ์ได้รวมนามกัณฑ์และการกกัณฑ์ไว้ในสยาทิกัณฑ์อย่างเดียว
แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนีแบ่งออกเป็น ๒ กัณฑ์
และในโมคคัลลานไวยากรณ์ได้แสดงขาทิกัณฑะ (กิตกัณฑ์) ก่อนจึงแสดงตยาทิกัณฑะ
(อาขยาตกัณฑ์) แต่คัมภีร์นี้แสดงอาขยาตกัณฑ์ก่อนจึงแสดงกิตกัณฑ์ต่อจากนั้น
ลำดับสูตรในคัมภีร์นิรุตติทีปนีก็ไม่เหมือนลำดับสูตรในโมคคัลลานไวยากรณ์
ท่านผู้แต่งได้นำสูตรจากโมคคัลลานไวยากรณ์มาเรียงลำดับใหม่ให้เรียนรู้ง่ายตามวิธีประกอบรูปศัพท์
เหมือนปทรูปสิทธิปกรณ์ที่นำสูตรจากกัจจายนไวยากรณ์มาเรียงลำดับใหม่ เช่น
ในโมคคัลลานไวยากรณ์ (สูตร
๒๘) มีสูตรว่า น
เทฺว วา แล้วกล่าวถึงสูตร (๒๙) ว่า
ยุวณฺณานเมโอ ลุตฺตา แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนีกล่าวถึงสูตรว่า น เทฺว วา
แล้วได้กล่าวสูตรต่อไปว่า ปรสรสฺส ซึ่งสูตรดังกล่าวปรากฏในลำดับสูตรที่ ๔๐ ทั้งสูตรว่า
ยุวณฺณานเมโอ ลุตฺตา ที่อยู่ในลำดับที่ ๒๙ ของโมคคัลลานไวยากรณ์
ก็ถูกย้ายมาอยู่ในลำดับที่ ๓๖ ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ในบางแห่งท่านผู้แต่งได้ตัดทอนคำที่เยิ่นเย้อในสูตร
และตัดบางสูตรที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไป เช่น
ก. ในโมคคัลลานไวยากรณ์
สนธิกัณฑ์ สูตร ๙ ว่า
อยุวณฺณา
ฌลา นามสฺสนฺเต แม้ว่าท่านผู้แต่งจะใช้คำว่า อิยุวณฺณา แต่ถ้าใช้เป็น ยุวณฺณา
ก็สื่อให้รู้ว่าหมายถึงสระ อิ วัณณะและ อุ วัณณะ ดังนั้น คัมภีร์นิรุตติทีปนี (สูตร ๑๒) จึงกล่าวเป็นรูปว่า ยุวณฺณา ฌลา นามสฺสนฺเต
เพื่อย่อคำในสูตร
ข. ในโมคคัลลานไวยากรณ์
สยาทิกัณฑ์ สูตร ๖๙ ว่า สุมฺหิ วา แม้ว่าท่านผู้แต่งจะกล่าวถึงสูตรนี้
แต่อุทาหรณ์ที่กล่าวถึงอาจสำเร็จได้ด้วยสูตร ๖๗ ว่า โคสฺสา คสิหินํสุ คาวควา
หรืออาจสำเร็จด้วยมหาสูตรว่า พหุลํ อันเป็นสูตร ๖๐ ที่อยู่ท้ายสนธิกัณฑ์
ดังนั้นจึงไม่มีสูตรว่า สุมฺหิ วา ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี
อนึ่ง
ในบางแห่งได้เพิ่มคำในสูตรให้กระจ่างชัดเจนขึ้น
และเพิ่มสูตรบางสูตรที่เห็นว่าจำเป็นไว้ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี เช่น
ก. ในโมคคัลลานไวยากรณ์
ณาทิกัณฑ์ สูตร ๑๒๓ ว่า โลปํ สูตรว่า โลปํ นี้มีซ้ำกัน ๒ สูตร
ทำให้คนอ่านไม่ทราบว่าสูตรนี้กล่าวถึงการลบอะไร แม้ว่าสูตรจะต้องมีองค์คุณคือความมีอักษรน้อยก็ตาม
แต่ถ้าชวนสับสนก็ทำให้ขาดองค์คุณของสูตรคือความไม่สับสน
และสูตรดังกล่าวก็กล่าวถึงการลบตัทธิตปัจจัย ดังนั้นในนิรุตติทีปนี ตัทธิตกัณฑ์
สูตร ๕๕๔ จึงตั้งสูตรเป็นรูปว่า ปจฺจยานํ โลโป
ข. ในโมคคัลลานไวยากรณ์
สนธิกัณฑ์ สูตร ๓๓ ว่า พฺยญฺชเน ทีฆรสฺสา แสดงการทำทีฆะและรัสสะในเพราะพยัญชนะ
แต่การทีฆะในเพราะพยัญชนะดังกล่าวใช้ในที่ลงอาคม ที่รักษาฉันท์ ที่ออกเสียงง่าย
และที่รู้ง่ายเท่านั้น มิได้ใช้ในฐานะทั่วไป ดังนั้น
คัมภีร์นิรุตติทีปนีจึงตั้งสูตร ๓๔ อันเป็นสูตรใหม่ว่า เสสา ทีฆา
เพื่อให้ทำทีฆะในอุทาหรณ์ที่ต้องทำทีฆะแน่นอน เช่น ตตฺรายมาทิ เป็นต้น
ในบางแห่งท่านผู้แต่งได้เปลี่ยนคำในสูตรบ้าง
ทั้งนี้เพื่อให้ชาวพม่าที่คุ้นเคยกับโวหารของกัจจายนไวยากรณ์ได้เรียนรู้ง่าย เช่น
ในโมคคัลลานไวยากรณ์ สยาทิกัณฑ์ สูตร ๓๓ ว่า ปญฺจมฺยวธิสฺมา มีความหมายว่า “ลงปัญจมีวิภัตติท้ายศัพท์ที่เป็นเขตแดน” แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนีเปลี่ยนสูตรเป็นรูปว่า
ปญฺจมฺยวธิสฺมึ ซึ่งมีความหมายว่า “ลงปัญจมีวิภัตติท้ายศัพท์ในอรรถอปาทาน” เพื่อคล้อยตามสูตรว่า
อปาทาเน ปญฺจมี (ลงปัญจมีวิภัตติในอรรถอปาทาน) ในกัจจายนไวยากรณ์
แม้ในบางแห่งท่านผู้แต่งก็เพิ่มคำอธิบายในวุตติ
เช่น ในโมคคัลลานไวยากรณ์ สัญญาทิกัณฑ์ สูตร ๙ ว่า อยุวณฺณา ฌลา นามสฺสนฺเต
ในวุตติของโมคคัลลานไวยากรณ์ได้อธิบายว่า นามํ ปาฏิปทิกํ, ตสฺส อนฺเต (บทนาม คือ บทที่ประกอบในบททุกๆ บท, ในที่สุดของบทนามนั้น) แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนียังระบุลิงค์ไว้ว่า
อนิตฺถิลิงฺคสฺส นามสฺส อนฺเต (ในที่สุดของบทนามที่มิใช่อิตถีลิงค์)
นอกจากนี้
คัมภีร์นิรุตติทีปนียังปรากฏหลักไวยากรณ์ที่กล่าวไว้เป็นพิเศษซึ่งไม่พบในโมคคัลลานไวยากรณ์
เช่น ในโมคคัลลานไวยากรณ์ สัญญาทิกัณฑ์ สูตร ๕๐ ว่า หสฺส วิปลฺลาโส และสูตร ๕๑ ว่า
เว วา ทั้งสองสูตรนี้แสดงการสลับเสียง ย และ ห เป็นรูปว่า คุยฺหํ และสลับเสียง ว
และ ห เป็นรูปว่า พวฺหาพาโธ แต่ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี วิปัลลาสสนธิ สูตร ๕๙ และ ๕๙
ได้แสดงถึงอุทาหรณ์ของการสลับเสียงอื่นๆ เหมือนฝนสร้างโลกที่โปรยตกลงในสมัยต้นกัป
เช่น
ก. การสลับเสียงพยัญชนะ
(พยัญชนวิปัลลาส) ย และ ร
อันได้แก่ ปยิรุปาสติ = ปริยุปาสติ
ข. การสลับเสียงนิคคหิต
(นิคคหีตวิปัลลาส) เช่น
อภาสิสุํ = อภาสึสุ
ค. การสลับเสียงสระ
อ (สรวิปัลลาส) เช่น
อนิมิตฺตํ กตฺวา = นิมิตฺตํ
อกตฺวา
ง. การสลับเสียงบท
(ปทวิปัลลาส) เช่น นวํ ปน
ภิกฺขุนา จีวรลาเภน = นวํจีวรลาเภน
ปน ภิกฺขุนา
ความหมายของคำว่า นิรุตฺติทีปนี
คำว่า
นิรุตฺติทีปนี มาจากศัพท์สมาส ๒ คำ คือ นิรุตฺติ + ทีปนี คำว่า นิรุตฺติ ในที่นี้มีความหมายว่า “ศัพท์” คำนี้มีความหมาย ๔ อย่าง คือ
๑. ไวยากรณ์ พบในคัมภีร์อปทาน
(เล่ม ๒ หน้า
๑๕๙) ว่า
นิรุตฺติยา จ กุสโล (ผู้ฉลาดในไวยากรณ์)
๒. ความหมาย พบในเนตติปกรณ์
(หน้า ๕) ว่า อกฺขรํ
ปทํ พฺยญฺชนํ นิรุตฺติ ตเถว นิทฺเทโส (อักษร
บท พยัญชนะ นิรุตติ และนิเทศ)
๓. กำเนิดของคำ คือ
นิรุตตินัยมีการลงอักษรเป็นอาคมเป็นต้น พบในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (คาถา ๑๑๐) ว่า กปฺโป พฺยากรณํ โชติ- สตฺถํ สิกฺขา
นิรุตฺติ จ (คัมภีร์กัลปะ
ไวยากรณ์ โชยติษ ศึกษา และนิรุตติ)
๔. ศัพท์ พบในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
(หน้า ๒) ว่า
นิรุตฺตินานตฺเต ปญฺญา (ปัญญาในความต่างกันของศัพท์)
คำว่า ทีปนี
แปลตามศัพท์ว่า “แสดง, อธิบายให้กระจ่าง” เมื่อรวมคำว่า
นิรุตฺติ กับ ทีปนี เป็น นิรุตฺติทีปนี ก็มีความหมายว่า “คัมภีร์ที่แสดงศัพท์” กล่าวคือ
แสดงศัพท์ที่เข้าใจยากให้กระจ่างชัดเจนแก่ผู้ศึกษาค้นคว้า
จะเห็นได้ว่าคัมภีร์นี้มีชื่อตรงกับข้อความในคัมภีร์อย่างแท้จริง
การจัดหมวดหมู่ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี
การจัดแบ่งหมวดหมู่ในคัมภีร์ไว้อย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญมากในการแต่งคัมภีร์
และคัมภีร์นี้ก็ได้แบ่งหมวดหมู่หลักไวยากรณ์ไว้โดยแบ่งเป็นตอนๆ ที่เรียกว่า กัณฑ์
และแบ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ราสิ กล่าวคือ คัมภีร์นิรุตติทีปนีมี ๗ กัณฑ์ คือ
๑. สนธิกัณฑ์
๒. นามกัณฑ์
๓. การกกัณฑ์
๔. สมาสกัณฑ์
๕. ตัทธิตกัณฑ์
๖. อาขยาตกัณฑ์
๗. กิตกัณฑ์
ในสนธิกัณฑ์แรกนั้น
ท่านได้แบ่งไว้เป็นกลุ่ม ๔ กลุ่มที่เนื่องด้วยคัมภีร์ทั้งหมด คือ
๑. ครุสัญญาราสิ
(กลุ่มครุสัญญา)
๒. พยัญชนวุตติราสิ
(กลุ่มเรื่องพยัญชนะ)
๓. ลหุสัญญาราสิ
(กลุ่มลหุสัญญา)
๔. สังเกตราสิ
(กลุ่มเครื่องสังเกต)
หลังจากท่านแสดงกลุ่มทั้ง
๔ กลุ่มเหล่านี้แล้วได้กล่าวถึงกลุ่มสนธิ ๗ กลุ่ม คือ
๑. โลปราสิ
(กลุ่มลบ)
๒. ทีฆ-รัสสราสิ (กลุ่มทีฆะและรัสสะ)
๓. วุฑฒิราสิ
(กลุ่มพฤทธิ์สระ)
๔. อาเทสราสิ
(กลุ่มอาเทศ)
๕. อาคมราสิ
(กลุ่มลงอักษรเป็นอาคม)
๖. ทวิภาวราสิ
(กลุ่มซ้อนพยัญชนะ)
๗. วิปัลลาสราสิ
(กลุ่มสลับเสียง)
แม้ในกัณฑ์อื่นๆ
ก็แบ่งเป็นกลุ่มไว้เช่นเดียวกัน อนึ่ง โลปราสิแรกของสนธิ ๗ กลุ่มยังแบ่งออกเป็น ๓
กลุ่ม คือ
๑. สรโลปราสิ
(กลุ่มลบสระ)
๒. พยัญชนโลปราสิ
(กลุ่มลบพยัญชนะ)
๓. พินทุโลปราสิ
(กลุ่มลบนิคคหิต)
สรโลปราสิยังแบ่งออกเป็น
๒ กลุ่ม คือ
๑. ปุพพสรโลปราสิ
(กลุ่มลบสระหน้า)
๒. ปรสรโลปราสิ
(กลุ่มลบสระหลัง)
แม้สนธิกลุ่มอื่นๆ
ก็แบ่งออกเป็นกลุ่มกลางแล้วกระจายออกเป็นกลุ่มย่อยอีกอย่างเป็นระบบเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าคัมภีร์นี้มีการดำเนินเนื้อหาอย่างเป็นระบบโดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่
กลุ่มกลาง และกลุ่มย่อย
เปรียบดั่งจิตรกรรมอันวิจิตรตระการตาของจิตรกรผู้เชี่ยวชาญย่อมจะดึงดูดใจของผู้ชมได้ฉะนั้น
การกำหนดหลักภาษาที่แปลกใหม่
การบัญญัติหลักภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะหลักภาษาที่บัญญัติไว้จะเป็นที่รู้จักของอนุชนรุ่นหลัง
คันถรจนาจารย์จึงต้องบัญญัติหลักภาษาที่มีลักษณะตรงกับคำบัญญัติ
แม้คัมภีร์นิรุตติทีปนีจะยอมรับหลักภาษาที่ไวยากรณ์รุ่นก่อนได้บัญญัติไว้
แต่ยังได้เพิ่มการบัญญัติหลักภาษาขึ้นใหม่ในตำแหน่งที่ยังบกพร่องอยู่ เช่น
การซ้อนอักษรที่เรียกว่า เทฺวภาวะ ในคัมภีร์ไวยากรณ์รุ่นก่อนบัญญัติว่าหมายถึง
สทิสเทฺวภาวะ คือ การซ้อนพยัญชนะที่เหมือนกัน เช่น ปกฺกม, ปรกฺกม
เป็นต้น และอสทิสเทฺวภาวะ คือ การซ้อนพยัญชนะที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปคฺฆรติ, เอเสว
จชฺฌานผโล เป็นต้น และมีการซ้อนอักษรในธาตุ เช่น ติติกฺขติ, พุภุกฺขติ
เป็นต้น แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนีได้ระบุการซ้อน ๔ อย่างไว้ในสนธิกัณฑ์ เทฺวภาวสนธิ
ซึ่งครอบคลุมหลักการใช้ภาษาบาลีทั้งหมด คือ
๑. พยัญชนะเทฺวภาวะ
การซ้อนพยัญชนะ เช่น ปรกฺกโม,
ปคฺฆรติ
เป็นต้น
๒. วิภัตยันตปทเทฺวภาวะ
การซ้อนบทที่มีวิภัตติอยู่ท้าย
เช่น
คาเม คาเม สตํ กุมฺภา เป็นต้น
๓. ธาตุเทฺวภาวะ
การซ้อนธาตุ เช่น ติติกฺขา,
พุภุกฺขติ
เป็นต้น
๔. วากยเทฺวภาวะ
การซ้อนพากย์ เช่น อโห พุทฺโธ อโห พุทฺโธ เป็นต้น
นอกจากนั้น
ท่านผู้แต่งยังจำแนกอัพยยศัพท์ คือ ศัพท์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงในเพราะลิงค์ พจน์
และวิภัตติไว้ในอัพยยราสิ โดยจำแนกเป็น ๖ อย่าง คือ
๑. อุปสัคคอัพยยะ
คือ อุปสรรคอันได้แก่ ป, ปรา
เป็นต้น
๒. นิปาตอัพยยะ
คือ นิบาตอันได้แก่ จ, วา
เป็นต้น
๓. วิภัตติปัจจยันตอัพยยะ
คือ ศัพท์ที่มีวิภัตติซึ่งลงในอรรถของวิภัตติมี โต เป็นต้นอยู่ท้าย อันได้แก่
รตฺติโต ดังนี้เป็นต้น
๔. สมาสอัพยยะ
คือ อัพยยีภาวสมาสอันได้แก่ อธิกุมาริ เป็นต้น
๕. ตัทธิตอัพยยะ
คือ อัพยยตัทธิตอันได้แก่ อชฺช,
อชฺชุ
เป็นต้น
๖. ตวาทิปัจจยันตอัพยยะ
คือ ศัพท์ที่มีกิตก์ปัจจัยมี ตฺวา เป็นต้นอยู่ท้าย อันได้แก่ กตฺวา, กาตุํ เป็นต้น
การจำแนกอัพยยศัพท์ทั้ง
๖ อย่างนี้ แม้ไม่พบในไวยากรณ์ใดๆ ก็เป็นการคิดค้นที่ดีของคัมภีร์นิรุตติทีปนี
เนื่องด้วยทำให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องของอัพยยศัพท์ได้ชัดเจนขึ้น
ผู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์นิรุตติทีปนีจะได้พบกับหลักภาษาที่แปลกใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี
เหมือนดั่งนายรัตนวณิชผู้ชาญฉลาดได้วางรัตนะคือทอง เงิน มุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์
และแก้วประพาฬ ไว้เรียงรายตามประเภท ขนาด และราคา
ทำให้ผู้มาซื้อหารัตนะเกิดความชื่นชมยินดีที่ได้พบเห็นรัตนะเหล่านั้น
การเพิ่มวิธีประกอบรูปศัพท์ที่แปลกใหม่
โดยเหตุที่คัมภีร์นี้เป็นไวยากรณ์บาลีที่แต่งหลังสุด
ท่านผู้แต่งจึงประมวลเนื้อหาสาระจากไวยากรณ์ที่แต่งไว้ก่อนมารวมไว้ในคัมภีร์นี้
ทั้งแสดงวิธีประกอบรูปศัพท์ที่แปลกใหม่ซึ่งไม่มีคัมภีร์ใดแสดงมาก่อน ตัวอย่างเช่น
ตามหลักภาษาบาลี ปัจจัยที่ไม่มีอรรถ เรียกว่า สฺวตฺถ เช่น เทวตา, ทานมยํ
ส่วนบทที่ไม่มีอรรถ เรียกว่า ตพฺภาว เช่น สุตฺตนฺตํ, วนนฺตํ
แต่ไม่มีคัมภีร์ใดแสดงการประกอบรูปศัพท์ของตัพภาวะไว้
ในคัมภีร์นี้ได้กล่าวถึงวิธีประกอบรูปศัพท์ของบทดังกล่าวในอาคมสนธิราสิ (ดู หน้า ๔๔)
การแสดงรูปพิเศษจากพระไตรปิฎก
คัมภีร์นี้ยังนำอุทาหรณ์ที่เป็นรูปพิเศษจากพระไตรปิฎกมาอ้างอิงเป็นสาธกไว้
ซึ่งรูปดังกล่าวไม่เคยมีคัมภีร์ใดแสดงมาก่อน กล่าวคือ
พระกัจจายนะได้อนุญาตการแปลงวิภัตติทั้งหลายเป็น อํ ท้าย อ การันต์ อัพยยีภาวสมาส
แต่ในสูตรมิได้ระบุว่าคือวิภัตติใด ส่วนในโมคคัลลานไวยากรณ์ได้แสดงอุทาหรณ์ว่า
อุปกุมฺภา อานย (นำมาจากสถานที่ใกล้นคร) แล้วกล่าวว่าการแปลงเป็น
อํ ไม่มีในปัญจมีวิภัตติ แต่มีได้บ้างในตติยาวิภัตติและสัตตมีวิภัตติ
โดยตั้งสูตรไว้ ๒ สูตร คือ นาโตมปญฺจมิยา และ วา ตติยาสตฺตมีนํ
แม้ปทรูปสิทธิปกรณ์ก็มีมติเหมือนโมคคัลลานไวยากรณ์
โดยกล่าวเป็นคาถาซึ่งมีความหมายว่า
“ไม่แปลงปัญจมีวิภัตติเป็น
อํ แต่แปลง ตติยาวิภัตติ สัตตมีวิภัตติ และฉัฏฐีวิภัตติเป็น อํ ได้บ้าง เพราะ
กฺวจิ ศัพท์ตามมา”
จะเห็นได้ว่าโมคคัลลานไวยากรณ์และปทรูปสิทธิปกรณ์มีทรรศนะเหมือนกัน
ส่วนในสัททนีติปกรณ์มิได้ยอมรับหรือคัดค้านความเห็นดังกล่าว เพียงแต่กล่าวว่าการแปลงเป็น
อํ มีได้โดยไม่แน่นอนในอุทาหรณ์ว่า โกยํ มชฺเฌสมุทฺทสฺมึ (ใครอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร) โดยนำมาจากคัมภีร์ชาดก
(เล่ม ๒ หน้า
๑๕๙)
คัมภีร์รุ่นหลังจากไวยากรณ์ทั้งสามฉบับนี้ได้ยอมรับความเห็นของคัมภีร์เหล่านั้น
โดยมิได้มีทรรศนะที่แปลกใหม่ใดๆ แต่ในคัมภีร์นิรุตติทีปนีนำอุทาหรณ์จากอรรถกถาพระอภิธรรม
(เล่ม ๑ หน้า
๒๗๐) ซึ่งมีการแปลงปัญจมีวิภัตติ
เอกพจน์ เป็น อํ มากล่าวว่า อชฺฌตฺตํ อภินิวิสิตฺวา พหิทฺธา วุฏฺฐาติ. พหิทฺธา
อภินิวิสิตฺวา อชฺฌตฺตํ วุฏฺฐาติ (โลกุตตรมรรคใส่ใจอารมณ์ภายในแล้วย่อมพ้นจากกิเลสในอารมณ์ภายนอก
โลกุตตรมรรคใส่ใจอารมณ์ภายนอกแล้วย่อมพ้นจากกิเลสในอารมณ์ภายใน) จะเห็นว่าความเห็นนี้ได้คัดค้านข้อความในโมคคัลลานไวยากรณ์และปทรูปสิทธิปกรณ์ไว้โดยตรง
นอกจากนี้
ท่านยังแสดงอุทาหรณ์ที่ไม่แปลง โย ปฐมาวิภัตติเป็น อํ
โดยนำตัวอย่างมาจากคัมภีร์ธรรมสังคณี (หน้า
๓) ว่า อชฺฌตฺตา
ธมฺมา (ธรรมภายใน) แล้วกล่าวว่าวิภัตติอื่นจากนี้อาจแปลงเป็น
อํ ได้บ้าง
แม้ท่านผู้แต่งจะหาสาธกที่ไม่มีใครเคยพบเห็นจากพระไตรปิฎกได้ก็ปราศจากความทะนงตน
ทั้งได้กล่าวไว้อย่างนุ่มนวลว่า “การห้ามการแปลงปัญจมีวิภัตติเป็น
อํ นั้น กล่าวไว้เพราะมีใช้น้อย”
ทั้งนี้เพื่อมิให้อนุชนตำหนิบุรพาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ไวยากรณ์นั่นเอง
พระโพธิสัตว์เมื่อจะเข้าไปอยู่ป่าปฏิบัติธรรม
มักบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งมวลที่มีค่า คือ แก้วแหวนเงินทอง ให้แก่ยาจก วณิพก
สมณะพราหมณ์ และคนเดินทางโดยทั่วไป ฉันใด พระญาณธชะก็เปรียบเหมือนพระโพธิสัตว์ผู้แบ่งปันความรู้ที่เกี่ยวกับหลักภาษาให้แก่อนุชนรุ่นหลังไว้ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ฉันนั้นเช่นกัน
การแสดงวินัจฉัยทางไวยากรณ์
กฎไวยากรณ์บางอย่างที่ศึกษากันสืบต่อกันมาอาจมีข้อผิดพลาดตามหลักการใช้ในพระไตรปิฎก
คัมภีร์นิรุตติทีปนีได้แสดงวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน เช่น
ในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งหมดกล่าวว่า
สมุจจยทวันทะและอันวาจยทวันทะเชื่อมเป็นบทสมาสในทวันทสมาสไม่ได้
แต่คัมภีร์นิรุตติทีปนี (คำอธิบายสูตร
๓๕๗) ว่า จตฺเถ
ได้อ้างอิงพระบาลีแล้ววินิจฉัยว่าทวันทะทั้งสองอย่างนั้นอาจเชื่อมเป็นทวันทสมาสได้
ผู้ที่ได้ศึกษาคัมภีร์นี้แล้วพบเห็นข้อวินิจฉัยที่วิจิตรพิสดารเช่นนี้จะเกิดความอัศจรรย์ใจ
เหมือนมองเห็นสิ่งที่ถูกความมืดปิดบังไว้แล้วปรากฏชัดด้วยแสงประทีปอันขจัดความมืดฉะนั้น
การอธิบายอย่างกระจ่างชัดเจน
ข้อความบางอย่างในสูตร
วุตติ และอุทาหรณ์ของโมคคัลลานไวยากรณ์เข้าใจยาก ท่านผู้ประพันธ์คัมภีร์นิรุตติทีปนีได้อธิบายข้อความที่เข้าใจยากให้กระจ่างชัดเจน
เช่น สูตร ๕๗ ว่า ยาวตาตาวํ สมฺภเม ท่านอธิบายความหมายของ สมฺภม ว่า
“ความเป็นไปบ่อยๆ
ชื่อว่า สัมภมะ หมายถึง การแสดงเหตุนั้นๆ ด้วยการประกอบวาจาที่รวดเร็ว ชื่อว่า
สัมภมะ กล่าวคือ อาเมฑิตะนั่นแหละ”
ข้อความแรกว่า
“ความเป็นไปบ่อยๆ
ชื่อว่า สัมภมะ” แสดงความหมายโดยศัพท์
ข้อความต่อมาว่า “หมายถึง
การแสดงเหตุนั้นๆ ด้วยการประกอบวาจาที่รวดเร็ว ชื่อว่า สัมภมะ” แสดงคำอธิบาย
ข้อความสุดท้ายว่า “กล่าวคือ
อาเมฑิตะนั่นแหละ” แสดงความหมายที่เป็นโวหาร
ผู้ที่ได้ศึกษาคัมภีร์นี้จะพบคำอธิบายอย่างนี้ในฐานะนั้นๆ
ตามสมควร
เหมือนกับอยู่ใกล้ปราชญ์ผู้เพียบพร้อมด้วยพหูสูตรคอยอธิบายข้อความที่เข้าใจยากให้แจ่มแจ้งไม่สับสน
กฎไวยากรณ์พิเศษ
คัมภีร์นี้กล่าวถึงกฎไวยากรณ์พิเศษที่เป็นข้อยกเว้นทางภาษา
ท่านจำแนกออกเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. อัปปวิธานะ วิธีที่ใช้น้อยซึ่งมิได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั่วไป
แต่ปรากฏในพระไตรปิฎกบางแห่ง ท่านกล่าวไว้ด้วยคำว่า อปฺปวิธานมุจฺจเต (จะกล่าวถึงวิธีที่ใช้น้อย) ดู
อุทาหรณ์ในหน้า ๑๕
๒. มหาวุตติวิธานะ วิธีที่ใช้ด้วยมหาสูตร
หมายถึง วิธีที่หายากและไม่อาจประกอบรูปศัพท์ด้วยสูตรที่กล่าวไว้ในโมคคัลลานไวยากรณ์ได้
ท่านกล่าวไว้ด้วยคำว่า มหาวุตฺติวิธานมุจฺจเต (จะกล่าวถึงวิธีที่ใช้ด้วยมหาสูตร) ดู
อุทาหรณ์ในหน้า ๓๐
๓. วิเสสวิธานะ วิธีพิเศษ
หมายถึง วิธีที่แปลกไปจากหลักภาษาโดยทั่วไป ท่านกล่าวไว้ด้วยคำว่า วิเสสวิธานมุจฺจเต
(จะกล่าวถึงวิธีพิเศษ) ดู
อุทาหรณ์ในหน้า ๑๑๒
ไวยากรณ์ประจำพระไตรปิฎก
คัมภีร์นิรุตติทีปนีจัดเป็นไวยากรณ์ที่ประมวลหลักภาษาที่สำคัญมาไว้ในคัมภีร์เดียว
โดยเทียบเคียงกับอุทาหรณ์ในพระไตรปิฎก
จึงนับได้ว่าเป็นไวยากรณ์ประจำพระไตรปิฎกโดยแท้ แม้นักศึกษาจะมิได้เรียนรู้คัมภีร์นี้อย่างจริงจัง
เพียงแต่พลิกดูสักหน้าสองหน้าก็จะพบว่าในเชิงอรรถได้อ้างอิงอาคตสถานไว้โดยละเอียด
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างคัมภีร์ในพระไตรปิฎกมาเทียบกับหน้าของคัมภีร์ปรมัตถทีปนีโดยสังเขป
คือ
ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก หน้าที่อ้างอิงไว้ในคัมภีร์นี้
วินัยปิฎก ๕ คัมภีร์
ปาราชิก ๑๑
ปาจิตติยะ ๒๒
มหาวรรค ๑๘๐
จูฬวรรค ๑๙
ปริวาร ๔๐
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ๓ คัมภีร์
สีลักขันธวรรค ๒๒
มหาวรรค ๑๙๓
ปาถิกวรรค ๒๖
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย ๓ คัมภีร์
มูลปัณณาสก์ ๑๓
มัชฌิมปัณณาสก์ ๒๓
อุปริปัณณาสก์ ๒๔
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ๕ คัมภีร์
สคาถวรรค ๒
นิทานวรรค ๑๖๗
ขันธวรรค ๑๘
สฬายตนวรรค ๔๒
มหาวรรค ๑๘
พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ๑๑ คัมภีร์
เอกกนิบาต ๒๐
ทุกนิบาต ๓๘
ติกนิบาต ๔๑
จตุกกนิบาต ๙
ปัญจกนิบาต ๔๒
ฉักกนิบาต ๑๖
สัตตกนิบาต ๑๖
อัฏฐกนิบาต ๔๒
นวกนิบาต ๔๒
ทสกนิบาต ๑๒
เอกาทสกนิบาต +
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๓๑ คัมภีร์
ขุททกปาฐะ ๑๔
ธรรมบท ๑๘๓
อิติวุตตกะ ๔๑๖
อุทานะ ๕๓
สุตตนิบาต ๑๔
วิมานวัตถุ ๔๓
เปตวัตถุ ๑๒
เถรคาถา ๑๑
เถรีคาถา ๑๔
เถรอปทาน ๗
เถรีอปทาน ๒๖
พุทธวงศ์ ๑๔
จริยาปิฎก ๒๖
ชาดก (เล่ม ๑) ๙๗
ชาดก (เล่ม ๒) ๑๔๑
มหานิเทศ ๒๑
จูฬนิเทศ +
ปฏิสัมภิทามรรค ๓๐
เนตติปกรณ์ ๓๓๙
มิลินทปัญหา ๓๖
พระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์
ธรรมสังคณี ๑๑
วิภังค์ ๑๑
ธาตุกถา +
ปุคคลบัญญัติ +
กถาวัตถุ ๔๔
ยมก +
ปัฏฐาน ๑๔๑
การพบเห็นอุทาหรณ์จากพระไตรปิฎกดังที่อ้างไว้ข้างต้นนี้เป็นเครื่องแสดงว่าท่านผู้ประพันธ์คัมภีร์มีความแตกฉานในพระไตรปิฎกเพียงไร
ท่านเหมือนนายเรือผู้ฉลาดได้วางแผนการเดินเรือเป็นอย่างดีแล้วนำผู้โดยสารเดินทางข้ามมหาสมุทรได้โดยปลอดภัย
คัมภีร์นี้เปรียบดั่งสำเภาใหญ่ที่นำผู้โดยสารคือนักศึกษาให้ข้ามมหาสมุทรแห่งพระไตรปิฎกได้โดยแท้
ในสมัยหนึ่งขณะที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้ยังมีชีวิตอยู่
วันหนึ่งได้เดินทางไปแสดงธรรมในเมืองพุกามตามคำอาราธนาของเจ้าเมืองพุกามชื่อ อู
ติน
ขณะนั้นมีอุบาสกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นผู้แตกฉานคัมภีร์ซึ่งเขาเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดโองปิน
(วัดต้นมะพร้าว) ได้เข้ามาท่านแล้วพูดว่าเขาพบข้อผิดพลาดตามหลักภาษาและฉันทลักษณ์หลายแห่งในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี
ท่านผู้แต่งฟังแล้วพูดว่า “เธอคิดว่าฉันไม่เข้าใจหลักภาษาและฉันทลักษณ์หรือ” แล้วให้คัมภีร์นิรุตติทีปนีไปอ่าน
ตอนจากนั้นราว ๕ วัน อุบาสกนั้นมาหาแลดีสยาดอพร้อมกับกล่าวคำขอขมาว่า “กระผมพูดผิดครับ
ตอนแรกคิดว่าท่านไม่เข้าใจหลักภาษาและฉันทลักษณ์
พอมาอ่านคัมภีร์นี้แล้วทราบว่าท่านเป็นสัททปารคู และฉันทปารคู
คัมภีร์นิรุตติทีปนีเป็นตำราที่แต่งได้ยอดเยี่ยมมากครับ
ขอท่านโปรดอดโทษแก่กระผมด้วย”
จะเห็นได้ว่าคัมภีร์นี้แม้กระทั่งคนอ่านด้วยความคิดหาข้อบกพร่องก็หาไม่พบ
จึงนับว่าเป็นตำราที่ทรงคุณค่าแก่ผู้ที่สนใจใฝ่รู้บาลีโดยทั่วไป
สรุปความว่าคัมภีร์นิรุตติทีปนีเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้
คือ
๑. โมคคัลลานไวยากรณ์อันเป็นคัมภีร์อ้างอิงของคัมภีร์นี้เป็นไวยากรณ์ชั้นเยี่ยมที่แต่งครอบคลุมพระไตรปิฎกและนัยจากไวยากรณ์สันสกฤต
๒. ท่านผู้ประพันธ์คัมภีร์นี้เป็นศาสนอาชาไนยที่ได้รับการจารึกนามไว้ในประวัติศาสตร์
๓. คัมภีร์นี้ใช้เวลาแต่งนับสิบปีตั้งแต่เวลาคิดเริ่มแต่งในขณะที่ท่านผู้ประพันธ์มีอายุ
๓๕ ปีจนถึงปีที่แต่งจบในขณะมีอายุ ๔๘ ปี
๔. ในเวลาแต่งคัมภีร์นี้ท่านผู้ประพันธ์ได้สอนกัจจายนไวยากรณ์
ปทรูปสิทธิปกรณ์ และสัททนีติปกรณ์หลายครั้ง
พร้อมทั้งเทียบเคียงมติของคัมภีร์เหล่านั้นแล้วเลือกสรรเนื้อหาสาระอย่างเหมาะสม
๕. ท่านผู้ประพันธ์ได้ตรวจสอบชำระโมคคัลลานไวยากรณ์
โดยอาศัยฉบับสิงหลและฉบับพม่าหลายฉบับ
๖. ท่านผู้ประพันธ์มีโอกาสศึกษาค้นคว้าไวยากรณ์บาลีที่แต่งไว้ก่อนอย่างครบถ้วนบริบูรณ์
เพราะคัมภีร์นี้เป็นตำราไวยากรณ์ที่แต่งไว้เป็นฉบับสุดท้าย
คัมภีร์นิรุตติทีปนีซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการเรียนรู้ไวยากรณ์บาลีนี้
ได้รับการพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์กวิเมียดมันในพุทธศักราช ๒๔๔๘
แล้วมิได้รับการจัดพิมพ์อีก ทำให้ไม่แพร่หลายในปัจจุบัน ดังนั้น
กรมการศาสนาของประเทศพม่าจึงดำเนินการจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒
ซึ่งในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงต้นฉบับใหม่ด้วยวิธีการดังนี้ คือ
๑. ชำระคำผิดจากกระบวนการพิมพ์ในครั้งแรก
๒. แบ่งวรรคตอนให้อ่านง่าย
๓. เพิ่มหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อย
๔. อ้างอิงอาคตสถาน
๕. อ้างอิงสูตรจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤตที่เกี่ยวข้องกัน
๖. ใช้อักษรทึบเพื่อแสดงข้อความสำคัญ
๗. เพิ่มดัชนีค้นคำ
๘. เขียนคำนำเพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ผู้อ่าน
๙. เทียบเคียงกับฉบับอื่นที่แตกต่างกัน
บัดนี้
คัมภีร์นิรุตติทีปนีซึ่งได้รับการประพันธ์และการชำระเป็นอย่างดีทั้งสองประการได้ประจักษ์ต่อสายตาของท่านผู้อ่านแล้ว
หากท่านต้องการเป็นนักไวยากรณ์ผู้แตกฉานเชี่ยวชาญก็เชิญศึกษาคัมภีร์นี้เถิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น