วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

๙๒ : นิคคหิตอาคม : การลง นิคคหิตอาคม

ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ครั้งที่ ๙๒  : นิคคหิตอาคม : การลง นิคคหิตอาคม

(ดูสูตร การลงนิคคหิตอาคม จากคัมภีร์นิรุตติทีปนี)
การลงอักษรอาคมได้แสดงมาโดยลำดับตั้งแต่สระจนถึงพยัญชนะ ทั้งวรรคและอวรรค แม้นิคคหิตอันเป็นพยัญชนะตัวท้ายสุด ก็สามารถเป็นอักษรอาคมได้. คัมภีร์นิรุตติทีปนีแสดงการลง อาคมไว้ด้วยหลักการของสูตรนี้

หลักการ : สูตรกำกับวิธีการ
   ๕๒. นิคฺคหีตํ
ในบางแห่งนิคคหิตเป็นอาคม ได้บ้าง.

หลักเกณฑ์ : ข้อกำหนดของสูตรและอธิบายโดยสังเขป
๑. นิคคหิตอาคม สามารถลงได้ ในกรณีที่มีสระเป็นเบื้องหลังบ้าง พยัญชนะเป็นเบื้องหลังบ้าง
๒. ไม่จำเป็นจะต้องลงนิคคหิตเสมอไป อาจไม่ลงก็ได้ เพราะในสูตรกำกับว่า “ได้บ้าง (วา)”, และรูปที่มีการลงนิคคหิตมีเพียงไม่มาก เพราะในสูตรกำกับว่า “ในบางแห่ง (กฺวจิ)”

หลักการใช้ : อุทาหรณ์ของสูตร
คัมภีร์นิรุตติทีปนียกอุทาหรณ์แยกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่  ๑. ข้อความในพระบาฬี ซึ่งมีอรรถกถาอธิบายสนับสนุน ดังต่อไปนี้

อุปวสฺสํ โข ปน = อุปวสฺส (อุปวสฺสิตฺวา) + โข ปน
=เข้าจำพรรษาแล้ว

นวํ ปน ภิกฺขุนา จีวรลาเภน = นว+จีวรลาเภน
ภิกษุผู้ได้จีวรใหม่

อปฺปมาโท อมตํปทํ = อปฺปมาโท อมต+ปทํ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย

กตฺตพฺพํ กุสลํพหุํ = กตฺตพฺพํ กุสลพหุํ
กุศลมากอันสัตว์ท.ควรทำ

จกฺขุํ อุทปาทิ = จกฺขุ อุทปาทิ
จักษุ เกิดขึ้นแล้ว
อณุํถูลานิ = อณุถูลานิ
เล็กและใหญ่

อวํสิรา ปตนฺติ = อวสิรา ปตนฺติ
มีหัวห้อยลง หล่นไป
----
ตัวอย่างเหล่านี้ มาในพระบาฬี ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ ๑.
อุปวสฺสํ โข ปน
อนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว (วิ.มหา. ๒/๑๖๖)
ในตัวอย่างนี้ บทว่า อุปวสฺสํ ศัพท์เดิมมาจาก อุปวสิตฺวา แปลว่า จำพรรษาแล้ว เมื่อแปลง ตฺวา เป็น ย แล้ว เป็น อุปวสฺ + ย แล้ว แปลง ย เป็น ส ปุพฺพรูป เป็น อุปวสฺส และลง นิคคหิตเป็น อาคม จึงเป็นรูปว่า อุปวสฺสํ. คัมภีร์อรรถกถาพระวินัย กล่าวถึงคำนี้ไว้ว่า

อุปวสฺสํ โข ปนาติ เอตฺถ อุปวสฺสนฺติ อุปวสฺส; อุปวสิตฺวาติ วุตฺตํ โหติฯ อุปสมฺปชฺชนฺติอาทีสุ วิย หิ เอตฺถ อนุนาสิโก ทฏฺฐพฺโพฯ วสฺสํ อุปคนฺตฺวา วสิตฺวา จาติ อตฺโถฯ
บทว่า อุปวสฺสํ คือ เข้าอยู่แล้ว. มีคำอธิบายว่า เข้าอยู่จำพรรษาแล้ว. แท้จริง บัณฑิตพึงเห็นนิคหิตในคำว่า อุปวสฺสํ นี้ ดุจในคำมีคำว่า อุปสมฺปชฺชํ เป็นต้น. ความว่า เข้าถึงฤดูฝนและอยู่แล้ว (เข้าจำพรรษาและปวารณาแล้ว). (วิ.อ. ๑/๑๖๖)

ตัวอย่างที่ ๒.
นวํ ปน ภิกฺขุนา จีวรลาเภน
อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ (วิ.มหา.๒/๖๑๙)
ในตัวอย่างนี้ ความจริง ควรจะเป็นรูปว่า นวจีวรลาโภ (เมื่อลงตติยาวิภัตติในอรรถกัตตาจึงเป็น จีวรลาเภน โดยเป็นวิเสสนะของ ภิกฺขุนา) เพราะคำนี้เป็นสมาส มีรูปวิเคราะห์ว่า
นวญฺจ ตํ จีวรญฺจาติ นวจีวรํ, 
จีวร ด้วย จีวรนั้น ใหม่ ด้วย เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า นวจีวรํ จีวรใหม่

ยํ นวจีวรํ ภิกฺขุนา อลภิ อิติ ตสฺมา ตํ นวจีวรํ ลโภ นาม ฯ
จีวรใหม่ใด อันภิกษุ ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น จีวรใหม่นั้น ชื่อว่า ลภะ จีวรใหม่เป็นที่ได้, (ลภ + อ ปัจจัยในกรรมสาธนะ)

ลโภเยว ลาโภ.
ลภะ นั่นเอง ชื่อว่า ลาภะ (ลภ + ณ สกัตถตัทธิต)
นวจีวรํ จ ตํ ลาโภ จาติ นวจีรลาโภ
จีวรใหม่ ด้วย จีวรใหม่นั้น เป็นที่ได้ (เป็นลาภ) ด้วย ชื่อว่า นวจีวรลาภะ ลาภเป็นจีวรใหม่. (กัมมธารยสมาส)

นวจีวรํ ลาโภ เอเตนาติ นวจีวรลาโภ
จีวรใหม่เป็นที่ได้ (เป็นลาภ) อันภิกษุนั้นได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า นวจีวรลาภะ ผู้มีจีวรใหม่เป็นลาภ. (อวุตตกัตตุสาธนะ)
(เรียบเรียงโดยอาศัยแนวทางจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา ๒/๑๒๔ ที่แสดงไว้ว่า
นวญฺจ ตจีวรญฺจาติ นวจีวรนวจีวรลาโภ เอเตนาติ นวจีวรลาโภติ เอวเมตฺถ สมาโส กาตพฺโพติ ทสฺเสติ เตนาห ปฏิลทฺธนวจีวเรนาติ อตฺโถติฯ)
ดังนั้น ในพระบาฬีแยกบทว่า นว ซึ่งเคยเป็นบทสมาสในคำว่า นวจีวรลาเภน แสดงไว้ต่างหากว่า (นวํ ปน ภิกฺขุนา) จีวรลาเภน ซึ่งคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้เรียกว่าลงนิคคหิตอาคมที่ นว เป็น นวํ
แต่ในอรรถกถาพระวินัยกล่าวว่า คำว่า นวํ ไม่ได้ลบนิคคหิตไป เพราะเป็นคำที่เข้าสมาสกับจีวรํ (ดูวิเคราะห์สมาสข้างต้น) ดังข้อความในคัมภีร์อรรถกถานั้นว่า
นวํ ปน ภิกฺขุนา จีวรลาเภนาติ เอตฺถ อลภีติ ลโภ; ลโภเยว ลาโภฯ กิํ อลภิ? จีวรํฯ กีทิสํ? นวํฯ อิติ ‘‘นวจีวรลาเภนา’’ติ วตฺตพฺเพ อนุนาสิกโลปํ อกตฺวา ‘‘นวจีวรลาเภนา’’ติ วุตฺตํ; ปฏิลทฺธนวจีวเรนาติ อตฺโถฯ
ในคำว่า นวํ ปน ภิกฺขุนา จีวรลาเภน นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
ภิกษุได้จีวรใด, เพราะเหตุนั้น จีวรนั้นจึงชื่อว่าลภะ, ลภะนั่นแหละ คือลาภ. ได้อะไร? ได้จีวร. จีวรเช่นไร? จีวรใหม่. เมื่อควรตรัสโดยนัยอย่างนี้ว่า นวจีวรลาเภน ไม่ลบนิคหิตตรัสว่า นวํ จีวรลาเภน ดังนี้. มีใจความว่า ได้จีวรใหม่มา. ศัพท์ว่า ปน ในบททั้ง ๒ วางไว้ตรงกลางเป็นนิบาต.

อันที่จริงแม้ศัพท์จะไม่อยู่ติดกัน แต่ก็ยังเป็นบทสมาสนั่นเอง เพราะความหมายนั้นเชื่อมกัน วิธีการเข้าสมาสโดยแยกกันแบบนี้ เรียกว่า อยุตตสมาส หมายถึง การเข้าสมาสของบททั้งสองที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะสองบทว่า จีวร และ ลาภ แม้จะสมาสกัน แต่ จีวร ศัพท์ ยังมีความสัมพันธ์กับ นวํ ที่เป็นวิเสสนะของ จีวรํ อยู่.
คัมภีร์ปาจิตยโยชนา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
สทฺทนฺตโรปิ อตฺถนฺตราภาวา สมาโส โหตีติ อาห ‘‘นวจีวรลาเภนาติ วตฺตพฺเพ’’ติฯ (ปาจิต.โย.)
แม้ศัพท์ห่างกัน ก็ยังเป็นสมาสได้ เพราะไม่ความห่างกันของเนื้่อความ.

สรุป คำว่า นวํ เข้าสมาสกับ จีวรลาเภน โดยมีการลงนิคคหิตเป็นอาคมตามหลักการของนิรุตติทีปนี. ส่วนอรรถกถากล่าวว่า นวํ เป็นวิเสสนะของ จีวรํ ซึ่งเข้าสมาสกับ ลาภ อยู่ แต่เป็นรูปที่ไม่มีการลบนิคคหิต.

ตัวอย่างที่ ๓
อมตํปทํ  ทางแห่งความไม่ตาย

ตัวอย่างนี้ คัมภีร์ธัมมปทบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคายนาเป็น อมตปทํ. แต่ฉบับสยามรัฐเป็น อมตํ ปทํ. แต่ในคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้เป็น อมตํปทํ ซึ่งท่านแสดงไว้ในที่นี้ว่า เป็นรูปที่มีการลงนิคหิตอาคม. อย่างไรก็ตามในที่นี้จะขอนำหลักฐานจากอรรถกถามาแสดง

อมตสฺส ปทํ อมตปทํ, อมตสฺส อธิคมูปาโยติ วุตฺตํ โหติ, (ธ.ป. อ. ๒)
ทางแห่งความไม่ตาย ชื่อว่า อมตปทํ, หมายความว่า เป็นอุบายบรรลุความไม่ตาย.

ดังนั้น ตัวอย่างนี้ควรเป็น อมตปทํ หรือ อมตํปทํ อย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ในที่นี้แสดงรูปอุทาหรณ์ของการลงนิคหิตอาคม ตามมติของคัมภีร์นิรุตติทีปนี.

ตัวอย่างที่ ๔.
กตฺตพฺพํ กุสลํพหุํ สัตว์ผู้จะต้องตาย (มจฺจ) ควรทำกุศลมาก

ในตัวอย่างนี้ คัมภีร์ฉบับปัจจุบันทั้งฉัฏฐสังคายนาและฉบับสยามรัฐ ต่างก็เป็น กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ ทั้งสิ้น. ส่วนคัมภีร์นิรุตติทีปนีอธิบายว่า เป็นการลงนิคหิตอาคม แต่ไม่ได้แสดงการตัดบทไว้ว่า ลงนิคคหิตที่บทไหน.
แม้อรรถกถาธรรมบทก็ไม่ได้กล่าวถึงการเข้าสมาสและมีการลงนิคคหิตอย่างใดเลย แต่อาศัยหลักการที่เป็นหัวข้อแสดงในที่นี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ควรเป็น กุสลํพหุํ ไปก่อน จนกว่าจะหาหลักฐานที่ชัดเจนได้.
อนึ่ง ในตัวอย่างนี้ พหุ เป็นวิเสสนะของ กุสลํ หมายถึง กุศลมีมากอย่าง ดังคัมภีร์ธัมมปทัฏกถาอธิบายข้อความนี้ว่า
มจฺเจนาติ มริตพฺพสภาวตาย ‘‘มจฺโจ’’ติ ลทฺธนาเมน สตฺเตน จีวรทานาทิเภทํ พหุํ กุสลํ กตฺตพฺพํ.
กุศลมากอย่างที่มีประเภทคือการถวายจีวรเป็นต้น ที่สัตว์ผู้ได้นามว่า “มจฺจ” เพราะตนมีสภาพต้องตาย.

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะนำ พหุ และ กุสล ศัพท์มาเข้าสมาสโดยเป็นกัมมธารยสมาสก็พอจะได้แล้วลงนิคคหิตอาคมตามหลักการนี้เป็น พหุํกุสลํ (อัตตโนมติของผู้เรียบเรียง)


ตัวอย่างที่ ๕.
อวํสิรา มีหัวห้อยลง
ตัวอย่างนี้ ใช้ในลิงค์ทั้งสาม เพราะเป็นบทพหุพพีหิสมาส ซึ่งเข้าสมาสระหว่าง อว และ สิร.  ลงนิคหิตอาคม ด้วยหลักการตามสูตรนี้ มีรูปวิเคราะห์ว่า
อวนตํ สิโร ยสฺส โสยํ อวํสิโร
หัวของผู้ใด ห้อยลง ผู้นั้น ชื่อว่า อวังสิระ ผู้มีหัวห้อยลง. (นีติ.ปท./มโนคณศัพท์)
จากรูปวิเคราะห์นี้แสดง อว คือ อวนตํ ห้อยลง.  ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาฎีกา หมายถึง อโธ ที่มีอรรถว่า ต่ำหรือเบื้องล่าง ดังนี้ว่า

เอเตสุ คิทฺธา วิรุทฺธาติปาติโน,    นิจฺจุยฺยุตา เปจฺจ ตมํ วชนฺติ เย;
ปตนฺติ สตฺตา นิรยํ อวํสิรา,        เอสามคนฺโธ น หิ มํสโภชนํฯ
สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลงตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่า กลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบ.
คัมภีร์อรรถกถาสุตตนิบาต อธิบายว่า
ตมํ วชนฺติ เย, ปตนฺติ สตฺตา นิรยํ อวํสิราติ เย โลกนฺตริกนฺธการสงฺขาตํ นีจกุลตาทิเภทํ วา ตมํ วชนฺติ, เย จ ปตนฺติ สตฺตา อวีจิอาทิเภทํ นิรยํ อวํสิรา อโธคตสีสา
บาทคาถาว่า ตมํ วชนฺติ เย ปตนฺติ สตฺตา นิรยํ อวํสิรา ความว่า ชนเหล่าใดไปสู่ที่มืด กล่าวคือโลกกันตริกนรกอันมืดมนอนธกาล หรืออันต่างด้วยสกุลมีสกุลต่ำเป็นต้น และสัตว์เหล่าใดผู้มีหัวตกลง ได้แก่ มีศีรษะตกลงไปเบื้องล่าง เพราะย่อมตกลงไปยังนรกอันต่างด้วยอเวจีนรกเป็นต้น. (ขุ.สุ.๒๕/๓๑๕และอรรถกถา)

ก. เมื่อว่าความหมายตามศัพท์ อวํสิร จึงหมายถึงการกลับเอาหัวลงล่างเท้าอยู่บน หรือ ห้อยหัวอยู่ ในพระบาฬีมักใช้คู่กับคำว่า อุทฺธํปาโท อวํสิโร มีเท้าอยู่บน มีหัวลง ตกไปสู่นรก เช่น

อิจฺเจวํ วิปฺปลปนฺติํ,                 ผนฺทมานํ ตโต ตโต;
ขิปิํสุ นิรเย โฆเร,                   อุทฺธํปาทํ อวํสิรํ
นายนิรยบาลทั้งหลายพากันจับนางเรวดี ผู้ดิ้นรนรำพันอยู่อย่างนี้เอาเท้าขึ้นเบื้องบนเอาหัวลงเบื้องต่ำ โยนลงไปในนรกอันร้ายกาจ. (ขุ.เป.๒๖/เรวตีวิมานวัตถุ)

ข. เมื่อว่าโดยสำนวนโวหาร อันเป็นธรรมโวหาร พรรณาธรรมโดยอาศัยความหมายตามคำศัพท์นี้ ก็จะพบว่า มีการนำมาใช้ในลักษณะว่าตกไปสู่ทางต่ำ ด้วย คือ ไม่โงหัวขึ้นจากความเห็นผิด เช่น
ทุคฺคเม วิสเม วาปิ                  อริยา คจฺฉนฺติ กามท
อนริยา วิสเม มคฺเค,               ปปตนฺติ อวํสิรา;
อริยานํ สโม มคฺโค,                อริยา หิ วิสเม สมา’’ติฯ

ดูกรกามทเทวบุตร อริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก ผู้มิใช่อริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย เพราะอริยะทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ ฯ
คัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า
(สํ.ส.๒๕/๒๓๕ กามทสูตรและอรรถกถาฎีกา)
อวํสิราติ ญาณสิเรน อโธสิรา หุตฺวา ปปตนฺติฯ อริยมคฺคํ อาโรหิตุํ อสมตฺถตาเยว จ เต อนริยมคฺเค ปปตนฺตีติ จ วุจฺจนฺติ (สํสคาอ.)
บทว่า อวํสิรา ได้แก่ เป็นผู้บ่ายศีรษะลง เพราะศีรษะคือญาณย่อมตกไป และเพราะไม่อาจยกขึ้นสู่อริยมรรคได้ ชนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ตกไปในทางอันไม่เรียบ. 

ส่วนคัมภีร์ฎีกาอธิบายว่า
อวํสิราติ อนุฏฺฐหเนน อโธภูตอุตฺตมงฺคาฯ กุสลงฺเคสุ หิ สมฺมาทิฏฺฐิ อุตฺตมงฺคา สพฺพเสฏฺฐตฺตา, ตญฺจ อนริยา  ปตนฺติ น อุฏฺฐหนฺติ มิจฺฉาปฏิปชฺชนโตฯ เตนาห ‘‘ญาณสิเรนา’’ติอาทิฯ (สํ.ส.ฎี)
บทว่า อวํสิรา ได้แก่ เป็นผู้มีอวัยวสูงสุด (ศีรษะ) อยู่ด้านล่าง เพราะการไม่โงขึ้น. ที่จริง ความเห็นถูก ชื่อว่า องค์สูงสุดในบรรดาองค์คือกุศล เพราะเป็นสภาพประเสริฐสุด.  ผู้ไม่ใช่อริยะ ย่อมตกไปสู่ทางไม่เรียบนั้น ย่อมไม่ออกจากการดำเนินไปผิด. เพราะฉะนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า เป็นผู้บ่ายศีรษะลง เพราะศีรษะคือญาณ ตกไป.

ค. สำนวนโวหารที่นิยมพูดกันเล่นๆ คือ อวังสิระ หมายถึง การตกต่ำ ทำผิดพลาด ไม่สามารถขึ้นสู่เบื้องสูงได้ เช่น สอบตก ก็เรียกว่า อวังสิระ.
อะวังสิโรใช้เป็นสำนวนหมายความหมายว่า พลาดท่าเสียที เสียท่า หมดท่า สอบตก พลาดหวัง ทำไม่สำเร็จ สู้ไม่ได้ แพ้หมดรูป (cr. เพจ. เฟสบุ๊ก ทองย้อย แสงสินชัย)

สรุป. อวํสิร ตามคำศัพท์คือ การตกลงไปสู่เบื้องล่างในลักษณะที่เอาหัวห้อยลงหรือที่เรียกว่า หัวทิ่ม ส่วนความหมายทางธรรมคือ โงหัวไม่ขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ แต่ความหมายแบบชาวโลก คือ ตกต่ำ ผิดทาง นั่นเอง.

ตัวอย่างที่ ๖.
จกฺขุํ อุทาปาทิ จักษุเกิดแล้ว
ตัวอย่างนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นรูปที่ลง อํทุติยาวิภัตติ แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นการลง นิคคหิตอาคม ด้วยสูตรนี้ ดังในพระบาฬีนี้ว่า
จกฺขุํ อุทปาทิ, ญาณํ อุทปาทิ.
จักษุเกิดแล้ว, ญาณเกิดแล้ว (วิ.มหาวรรค. ๔/๑๕)

ตัวอย่างที่ ๗.
อณุํถูลานิ น้อยใหญ่
ตัวอย่างนี้ว่า อณุํถูลานิ เป็นบทสมาส แยกเป็น อณ และ ถูล ความหมายคือ ขุทฺทก และ มหนฺต นั่นเอง ลงนิคคหิตอาคมระหว่าง อณุ และ ถูล เป็น อณุํถูล เช่น

นาทฏฺฐา ปรโต โทสํ,               อณุํถูลานิ สพฺพโส;
อิสฺสโร ปณเย ทณฺฑํ,              สามํ อปฺปฏิเวกฺขิยฯ
โทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นทั้งหมดที่ยังมิได้เห็น มิได้พิจารณาด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรลงทัณฑ์
         
อณุํถูลานีติ  ขุทฺทกมหนฺตานิ วชฺชานิฯ
บทว่า อณุํถูลานิ ได้แก่ โทษน้อยและใหญ่. 
(ขุ.ชา. ๒๗/๑๖๙๘) และอรรถกถา

--------

กลุ่มที่ ๒. อุทาหรณ์ที่เคยกล่าวมาแล้วในนิคคหิตอาเทส
อุทาหรณ์ต่อไปนี้เป็นชุดเดียวกับอุทาหรณ์ของนิคคหิตอาเทศ ดังนั้น เมื่อลงนิคคหิตอาคมแล้วสามารถแปลงนิคคหิตเป็นพยัญชนะอื่นๆ ได้บ้าง เช่น

ยทตฺโถ, ยํ + อตฺโถ = ย + อตฺโถ
เนื้อความใด

ตทตฺโถ, ตํ + อตฺโถ = ต + อตฺโถ
เนื้อความนั้น

เอตทตฺโถ,เอตํ + อตฺโถ = เอต + อตฺโถ
ประโยชน์นี้

ตกฺกตฺตา,ตํ + กตฺตา = ต + กตฺตา
ผู้ทำกิจนั้น

ตกฺกโร, ตํ + กโร = ต + กโร
ผู้ทำกิจนั้น

ตํสมฺปยุตฺโต  = ต + สมฺปยุตฺโต
ประกอบด้วยธรรมนั้น

ตพฺโพหาโร, ตํ+โวหาโร = ต + โวหาโร
เป็นชื่อของสิ่งนั้น

ตพฺพหุโล, ตํ + พหุโล = ต + พหุพโล
มากด้วยสิ่งนัั้น

-----------------------

ท่านสาธุชน ผู้ใคร่จะเปรียบเทียบวิธีการลงนิคคหิตอาคมกับคัมภีร์ไวยากรณ์อื่น ก็สามารถดูได้ที่
     ๑)    กัจจายนไวยากรณ์สูตรที่ ๓๕, และ ปทรูปสิทธิสูตรที่ ๓๔. ย ว ม ท น ต ร ลา จาคมา
     ๒)    สัททนีติ สุตตมาลา สูตรที่ ๕๖ ยวมทนตรลหา วา.]

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น