วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ครั้งที่ ๙๓ : ทวิภาวสนธิ

ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ครั้งที่ ๙๓ : ทวิภาวสนธิ    

ทวิภาวสนธิ คือ การเชื่อมสนธิโดยการทำอักษรให้เป็นสองตัว. ทวิภาวะ คือ การมีพยัญชนะ ๒ สองตัวอยู่ติดกัน โดยไม่มีสระอยู่ระหว่างเรียกว่า สังโยค ดังนั้น การเข้าสนธิโดยวิธีการเช่นนี้ เรียกว่า สัญโญคะ ก็มี ดังนั้น คำว่า ซ้อน เป็นคำแปลของคำว่า ทวิภาวะ โดยอรรถ ส่วนคำแปลว่า ความเป็นอักษรสองตัว จึงเป็นคำแปลโดยพยัญชนะ.
สรุป จะเรียกว่า ซ้อน ก็ได้ เรียกวา ทวิภาวะ  ก็ได้ ไม่ผิด แต่ในที่นี้จะเรียกว่า ซ้อน. พึงทราบว่า การซ้อน หรือ ทวิภาวะ  ได้แก่การนำพยัญชนะวางไว้ข้างหน้าพยัญชนะตัวเดิมนั่นเอง.
โดยทั่้วไปการซ้อน จะมีทั้งการซ้อนพยัญชนะ พยัญชนทวิตตะ ซ้อนบทมีวิภัตติ วิภัตตยันตทวิตตะ และซ้อนธาตุ ธาตุปททวิตตะ ดัง คัมภีร์นิรุตติทีปนี แสดงไว้ว่า


ทวิภาวะ (การซ้อน) มี ๓ ชนิด.
๑. พยัญชนทวิภาวะ ซ้อนพยัญชนะ เช่น
ปกฺกโม พากเพียร
ปรกฺกโม บากบั่น.
๒. วิภัตตยันตทวิภาวะ ซ้อนบทที่มีวิภัตติเป็นที่สุด (ลงวิภัตติแล้ว) เช่น
รุกฺขํ รุกฺขํ สิญฺจติ
รดน้ำต้นไม้ทุกต้น.
๓. ธาตุปททวิภาวะ คือ ซ้อนธาตุ (บทกิริยา) เช่น
ติติกฺขา ความอดกลั้น
ติกิจฺฉา ความรักษา
ชคมา เขาไปแล้ว
ชคมุ เขาไปแล้ว

บรรดาทวิภาวะ หรือ การซ้อน ๓ ชนิด ในสนธิราสินี้ ท่านแสดงเพียง พยัญชนทวิภาวะ หรือ ซ้อนพยัญชนะและซ้อนบทลงวิภัตติ. ส่วนธาตุปททวิภาวะ จะยกไปแสดงในอาขยาตราสิ ต่อไป.
-------
บรรดาการซ้อนสองประเภทที่ควรทราบก่อน คือ การซ้อนพยัญชนะ คัมภีร์นี้เรียกว่า ทวิตตะ โดยแบ่งการซ้อนพยัญชนะออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สทิสทวิตตะ  การซ้อนหรือการนำอักษรที่มีรูปเดียวกันซ้อนหน้าอักษรที่ต้องการจะซ้อน
๒. วิสทิสทวิตตะ การซ้อนอักษรที่รูปต่างกันซ้อนหน้าอักษรอีกตัวหนึ่ง
ทั้งสองประการนีมีกฏเกณฑ์ในการซ้อนด้วยหลักการของสูตรนั้นๆ
-----------------------
สทิสทวิตตะ
การซ้อนอักษรที่มีรูปเหมือนกัน จะมีหลักการซ้อน ตามสูตรนี้
หลักการ : สูตรกำกับวิธีการ
๕๓. สรมฺหา ทฺเว [1]
เบื้องหลังจากสระ ซ้อนพยัญชนะได้บ้าง

หลักเกณฑ์ : ข้อกำหนดของสูตรและคำอธิบายโดยสังเขป
๑)    ในบางแห่ง พยัญชนะที่อยู่ข้างหลังสระ เป็นพยัญชนะสองตัว.
๒) คำสั่งของสูตร ถือเป็นแนวคิดแบบกว้างๆ คือ เมื่อพยัญชนะนั้นอยู่หลังจากสระ สามารถซ้อนอักษรตัวต้นของตน แต่ไม่ได้แสดงขอบเขตว่า จะต้องใช้ในกรณีไหนบ้าง มีขอบเขตอะไรบ้าง

ดังนั้น คัมภีร์นิรุตติทีปนี จึงแสดงขอบเขตหรือหลักการซ้อนไว้ในวุตติของสูตรนี้  เหมือนอย่างที่คัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์เป็นต้น เรียกว่า ฐานะ ไว้ ๘ ประการ คือ
๑. ท้ายสระ ป สามารถมีตัวซ้อนแบบเดียวกับตนได้ ถ้า ป นั้นเป็น ป ของ ป, ปติ และ ปฎิ เช่น
อปฺปมาโท ความไม่ประมาท
อิธปฺปมาโท ความไม่ประมาทในธรรมนี้
วิปฺปยุตฺโต ไม่ประกอบ
สมฺมปฺปธานํ ความเพียรชอบ
อปฺปติวตฺติยํ ธมฺมจกฺกํ ธรรมจักร อันใครๆไม่ให้เป็นไป
สุปฺปติฏฺฐิโต ตั้งไว้ดีแล้ว
อปฺปฏิปุคฺคโล บุคคลผู้มีคนเปรียบหามิได้
วิปฺปฏิสาโร ความเดือดร้อน
สุปฺปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี

ในข้อนี้ มีคำสำคัญของตัวสูตร ว่า “ท้ายสระ” ดังนั้น ถ้าเป็น ป แต่อยู่ท้ายพยัญชนะ กล่าวคือ มีพยัญชนะอยู่ข้างหน้า ไม่ซ้อน เช่น
สมฺปยุตฺโต ประกอบ
----
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช




[1] [ก. ๒๘; รู. ๔๐; นี. ๖๗]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น