วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๙๘ : ทวิภาวสนธิ อสทิสทวิตตราสิ

ทฺวิภาวสนฺธิ
อสทิสทวิตต

ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ครั้งที่ ๙๘ : ทวิภาวสนธิ อสทิสทวิตตราสิ
          บทความเกี่ยวกับการศึกษาหลักบาฬีไวยากรณ์ตามแนวทางโมคคัลลานไวยากรณ์ โดยอาศัยนัยที่มาในคัมภีร์นิรุตติทีปนีเป็นคู่มือการศึกษา ก็ได้ดำเนินมาตามลำดับ ผู้เรียบเรียงก็จัดทำเป็นตอนๆ เท่าที่ควรจะเสนอให้อ่านในแต่ละวันตามควรแก่เนื้อหา.

*** ดูคัมภีร์นิรุตติทีปนี ***
          ท่านสาธุชนทั้งหลาย  ช่วงนี้ยังคงอยู่ในสนธิกัณฑ์ อันเป็นช่วงของเนื้อความที่แสดงการเปลี่ยนแปลงอักษรเพื่อการเชื่อมบทแต่ละบทเข้าหากันโดยหวังการย่นเวลาในการออกเสียง และทำให้บทท้ังหลายเมื่อเชื่อมเข้าหากันจะมีความกลมกลือนออกเสียงได้สะดวก และทำให้เสียงไพเราะมากขึ้นด้วย แต่ต้องไม่ทิ้งหลักการว่า ไม่ทำให้เสียเนื้อความของบทเหล่านั้นอีกด้วย.

          บรรดาวิธีการเชื่อมบทเข้าหากัน มีอยู่หลายวิธี อาทิ การตัดเสียง การกลาย การทำให้เป็นเสียงยาว เป็นเสียงสั้น เพิ่มอักษรเป็นต้น ซึ่งได้แสดงวิธีการเหล่านั้นมาโดยลำดับแล้ว กระทั่งถึงวิธีการซ้อนเสียงเป็นลำดับปัจจุบันนี้.
          เมื่อกล่าวถึงการซ้อนเสียง ภาษาบาฬีมีศัพท์นิยมบัญญัติว่า เทวภาวะ หมายถึง การทำอักษรให้เป็นพยัญชนสังโยค กล่าวคือ มีพยัญชนะสองตัวอยู่ติดกัน. คัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะ เรียกวิธีการนี้ว่า เทวภาวะ แต่ในคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้ เรียกว่า ทวิภาวะ.
          บรรดาเทวภาวะ หรือ ทวิภาวะ ท่านแบ่งออกเป็นสองประการเหมือนกันคือ
          สทิสเทวภาวะ ซึ่งในคัมภีร์นิรุตติทีปนี เรียกว่า สทิสทวิตตะ ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า สทิสทวิตตะ ตามคัมภีร์นี้. หมายถึง การทำอักษรเพิ่มอีกหนึ่งตัวให้เป็นอักษรสองตัวที่เหมือนกันทั้งคู่ โดยมีหลักการอยู่ ๙ ประการ ซึ่งเป็นฐานะที่ควรจะทำสทิสทวิตตะได้ ดังได้แสดงมาแล้วทั้งหมดในคราวที่แล้วมา.
          อสทิสเทวภาวะ ซึ่งในคัมภีร์นิรุตติทีปนีเรียกว่า อสทิสทวิตตะ ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า อสทิสทวิตตะ เช่นกัน หมายถึง การทำอักษรเพิ่มอีกหนึ่งตัวให้เป็นอักษรสองตัวที่แตกต่างกัน โดยมีหลักการทำเช่นน้ันดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้.
          ก่อนอื่น ขอชี้แจงว่า การเป็นอักษรซ้อนแบบอสทิสทวิตตะจะทำในกรณีที่เป็นพยัญชนวรรค และไม่ว่าจะเป็นหลักการตามคัมภีร์ไวยากรณ์ใดๆ ก็ต้องยึดหลักพื้นฐานแบบง่ายว่า ในพยัญชนะแต่ละวรรค
พยัญชนะตัวที่ ๑ ต้องอยู่หน้า พยัญชนะตัวที่ ๑ หรือ พยัญชนะตัวที่ ๒
พยัญชนะตัวที่ ๓ ต้องอยู่หน้า พยัญชนะตัวที่ ๓ หรือ พยัญชนะตัวที่ ๔
พยัญชนะตัวที่ ๕ อยู่หน้าพยัญชนะได้ทุกตัว เว้น ง ไม่สามารถซ้อนหน้าตัวเอง

   คัมภีร์กัจจายนะ จะไม่เรียกพยัญชนะที่ ๒ และ พยัญชนะที่ ๔  แต่จะเรียกตามชื่อที่ได้จากคัมภีร์สันสกฤตว่า โฆสะ และ อโฆสะ แต่คัมภีร์โมคคัลลานะ รวมทั้งนิรุตตทีปนี จะเรียกว่า พยัญชนะที่ ๒ และ พยัญชนะที่ ๔ ตรงตามลำดับพยัญชนะ ดังนั้น จึงสะดวกต่อการทำความเข้าใจและจดจำได้ง่าย.
คัมภีร์นิรุตติทีปนีวางหลักการทำอสทิสทวิตตะ จากคัมภีร์โมคคัลลานะไวยากรณ์ด้วยสูตรนี้
หลักการ : สูตรกำกับวิธีการ

๕๔. จตุตฺถทุติเยสฺเวสํ ตติยปฐมา
ในกรณีที่มีพยัญชนะที่ ๔ และ ที่ ๒ ข้างหลัง. สามารถเพิ่มพยัญชนะที่ ๓ และ ที่ ๑ มาวางไว้ข้างหน้าพยัญชนะเหล่านั้นตามลำดับ

หลักเกณฑ์ : ข้อกำหนดของสูตรและคำอธิบายโดยสังเขป
ข้อกำหนดที่จะเสนอนี้ยก “กวรรค” เป็นตัวอย่างเท่านั้น อีก ๔วรรคที่เหลือ ก็มีนัยนี้
๑. สูตรนี้วางเกณฑ์การซ้อนพยัญชนะไว้ ๒ ตำแหน่ง คือ

ก.ถ้ามีพยัญชนะที่ ๒ ตั้งอยู่ข้างหลัง สามารถเอาพยัญชนะที่ ๑ มาเป็นตัวซ้อน คือ เป็นตัวนำของพยัญชนะที่ ๒ นั้น ส่วนพยัญชนะที่ ๒ นั้น ก็เป็นต้วตาม ได้ คือ
ข สามารถเพิ่ม กฺ ข้างหน้า, ฉ เพิ่ม จ ข้างหน้า, ฐ เพิ่ม ฏ ข้างหน้า, ถ เพิ่ม ต ข้างหน้า, ผ เพิ่ม ป ข้างหน้า ดังนั้น ตามหลักการของสูตรนี้ จึงสรุปรูปแบบได้ว่า
กฺข, จฺฉ, ฏฺฐ, ตฺถ, ปฺผ

ข. ถ้ามีพยัญชนะที่ ๔ ตั้งอยู่แล้ว พยัญชนะที่ ๓ สามารถเอามาเป็นตัวซ้อนคืออยู่หน้า พยัญชนะที่ ๔ นั้นได้ คือ
ฆ สามารถเพิ่ม คฺ ข้างหน้า, ฌ เพิ่ม ชฺ, ฒ เพิ่ม ฑฺ, ธ เพิ่ม ทฺ, ภ เพิ่ม พฺ.  มีรูปแบบดังนี้
คฺฆ, ชฺฌ, ฑฺฒ, ทฺธ, พฺภ

จำเป็นหลักการง่ายๆว่า
“พยัญชนะที่เพิ่มเข้ามาเรียกว่า ตัวนำ, ส่วนพยัญชนะที่ตั้งอยู่ก่อนเรียก ตัวตาม”
ดังนั้น ๑ นำ ๒ ตาม, ๓ นำ ๔ ตาม

๒. ในกรณีที่พยัญชนะที่ ๒ คือ ขฺ และ ฆฺ ถูกเพิ่มมาข้างหน้า ข และ ฆ ตามหลักการของสูตร สรมฺหา เทฺว เบื้องหลังจากสระ ซ้อนพยัญชนะได้บ้าง (สูตรที่ ๕๓ จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และ สูตรว่า วคฺคลเสหิ เต ย ที่อยู่หลัง พยัญชนวรรค , ล และ ส ให้แปลง ย เป็นพยัญชนะวรรค ล และ ส เหล่านั้น (สูตรที่ ๔๓ เคยกล่าวมาแล้วในพยัญชนาเทสสนธิ) ซึ่งได้รูปเป็น ขฺข และ ฆฺฆ ก็จะไม่สอดคล้องต่ออักขรวิธีในบาฬี ดังนั้น สูตรนี้จึงเป็นหลักการที่จะต้องนำไปใช้กับรูปดังกล่าว เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง กล่าวคือ
พยัญชนะตัวที่ ๒ คือ ขฺ ที่เพิ่มมาจากหลักการของสองสูตรดังกล่าวให้เป็นพยัญชนะที่ ๑ คือ กฺ และ  ตัวที่ ๔ คือ ฆฺ เป็นพยัญชนะที่ ๓ คือ คฺ ดังนั้น จึงได้รูปเป็น
ขฺข > กฺข, ฆฺฆ > คฺฆ

หลักการใช้ : อุทาหรณ์ของสูตร
กวรรค
- ตามหลักการทั่วไป เช่น
เพิ่มพยัญชนะที่ ๑ เป็นอสทิสทวิตตะ คือ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๒
อากฺขาตํ (อา + ขาตํ) กล่าวแล้ว,
ปกฺขิตฺตํ (ป + ขิตฺตํ) วางแล้ว,
ปกฺเขโป (ป + เขโป) การวาง,
รูปกฺขนฺโธ (รูป + ขนฺโธ) รูปขันธ์
เวทนากฺขนฺโธ (เวทนา + ขนฺโธ) เวทนาขันธ์
ธาตุกฺโขโภ (ธาตุ + โขโภ) ความกำเริบไม่เสมอกันแห่งธาตุ 
อายุกฺขโย (อายุ + ขโย) ความสิ้นอายุ
นกฺขมติ (น + ขมติ) ย่อมไม่ชอบใจ

เพิ่มพยัญชนะที่ ๓ เป็นอสทิสทวิตตะ คือ ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ ๔
ปคฺฆรติ (ป + ฆรติ) ย่อมไหลออก
อุคฺโฆสติ (อุ + โฆสติ) ย่อมส่งเสียง
นิคฺโฆโส.  (นิ + โฆโส) เงียบเสียง, เปล่งเสียง
อุ.นี้ ถ้า นิ อุปสัคมีอรรถไม่มี แปลว่า เงียบ, ถ้า มีอรรถออก แปลว่า เปล่งเสียง


ท่านสาธุชนทั้งหลาย ลองสังเกตรูปเดิมในวงเล็บนะครับ เช่น อา + ขาตํ เพิ่ม กฺ พยัญชนะที่ ๑ หน้า ข อันเป็นพยัญชนะที่ ๒ เป็น อากฺขาตํ, ป + ฆรติ เพิ่ม คฺ พยัญชนะที่ ๓ หน้า ฆ อันเป็นพยัญชนะที่ ๔ เป็น ปคฺฆรติ เป็นต้น.

- กรณีที่ ขฺ เป็นสทิสทวิตตะ ดังได้กล่าวมาแล้ว (ฆฺ ท่านไม่ได้แสดงอุทาหรณ์ไว้) มีตัวอย่างคือ ปาโมกฺข
ปาโมกฺข คือ  ปมุเข สาธุ ปาโมกฺขํ ความดี (หรือ ความควร, เหมาะสม) ในประธาน ชื่อว่า ปาโมกฺข.
รูปนี้ ปมุข + ณฺย ปัจจัยในชาตาทิตัทธิต = ปาโมขฺข > ปาโมกฺข,  ย เป็น ข ปุพพรูป ตามหลักการของสูตร วคฺคลเสหิ เต ย ที่อยู่หลัง พยัญชนวรรค , ล และ ส ให้แปลง ย เป็นพยัญชนะวรรค ล และ ส เหล่านั้น แล้ว แปลง ขฺ เป็น กฺ ตามหลักการของสูตรนี้.

-------------

สำหรับในวรรคอื่น ก็มีดังนี้
ในจวรรค เช่น
อจฺฉาเทติ (อา + ฉาเทติ) ย่อมฉาบทา
อจฺฉินฺทติ (อา + ฉินฺทติ) ย่อมตัด
ปจฺฉาเทติ   (ป + ฉาเทติ) ย่อมฉาบทา
ปจฺฉินฺทติ (ป + ฉินฺทติ) ย่อมตัด
เสตจฺฉตฺตํ (เสต + ฉตฺตํ) ร่มขาว
รุกฺขจฺฉายา (รุกฺข + ฉายา) เงาไม้
ตถสฺส ภาโว ตจฺฉตํ  (ตถ + ณฺย) ความเป็นจริง
รถสฺส หิตา รจฺฉา (รถ + ณฺย) อุปกรณ์อันเกื้อกูลแก่รถ อะไหล่รถฯลฯ
ปชฺฌายติ (ป + ฌายติ) (๑) คิดมาก, (๒) แห้งผาก (๓) เศร้าโศก
อุชฺฌายติ (อุ + ฌายติ) ย่อมตำหนิ, โพนทนา
นิชฺฌายติ (นิ + ฌายติ) (๑) คิดไปเรื่อย, (๒) แผดเผา (๓) พิจารณาใคร่ครวญ
ปฐมชฺฌานํ (ปฐม + ฌานํ) ฌานที่หนึ่ง
ทุติยชฺฌานํ (ทุติย + ฌานํ) ฌานที่สอง
อชฺโฌกาโส (อธิ + โอกาโส) ที่โล่งแจ้ง
โพชฺฌงฺโค (โพธิ + องฺโค) องค์แห่งการตรัสรู้.

ฏวรรค เช่น
ยตฺรฏฺฐิตํ (ยตฺร + ฐิตํ) ดำรงอยู่แล้วในที่ใด
ตตฺรฏฺฐิโต (ตตฺร + ฐิโต) ผู้ดำรงอยู่แล้วในที่นั้น
อุฏฺฐิโต (อุ + ฐิโต) ตั้งขึ้นแล้ว
นิฏฺฐิโต (นิ + ฐิโต) สำเร็จแล้ว
ถลฏฺโฐ (ถล + โฐ) อยู่บนบก
ชลฏฺโฐ (ชล + โฐ) อยู่ในน้ำ
วุฑฺโฒ (วฑฺฒ + ต) คนแก่

ตวรรค เช่น
สุมนตฺเถโร (สุมน + เถร) พระเถระนามว่า สุมน
ยสตฺเถโร (ยส + เถร) พระเถระนามว่า ยสะ
อวตฺถา (อว + ถา) กำหนด
อวตฺถานํ (อว + ถานํ) การกำหนด
วิตฺถาโร (วิ + ถาร) แผ่ขยายไป, พิสดาร, ความโดยละเอียด
อภิตฺถุโต (อภิ + ถุต) สรรเสริญแล้ว
วิตฺถมฺภิโต (วิ + ถมฺภิต) ค้ำจุนแล้ว
อุทฺธรติ (อุ + ธรติ) ยกขึ้น
อุทฺธรณํ (อุ + ธรณ) การยกขึ้น
อุทฺธฏํ (อุ + ธฏ) ยกขึ้นแล้ว
นิทฺธาเรติ (นิ + ธาเรติ) ย่อมไขความ
นิทฺธารณํ (นิ + ธารณํ) การไขความ
นิทฺธาริตํ (นิ + ธาริต) ไขความแล้ว
นิทฺธโน (นิ + ธน) คนไร้ทรัพย์
นิทฺธุโต (นิ + ธุต)  กำจัดออกแล้ว
นิทฺโธโต (นิ + โธต) ล้างออกแล้ว

ในปวรรค เช่น
วิปฺผรติ (วิ+ผรติ) ย่อมแผ่ไป
วิปฺผรณํ (วิ + ผรณ) การแผ่ไป
วิปฺผาโร (วิ + ผาร) การแผ่ไป
อปฺโผเฏติ (อา + โผเฏติ) ย่อมสะเทือน
มหปฺผลํ (มหา + ผล) มีผลมาก
นิปฺผลํ (นิ + ผล) ไม่มีผล
มธุปฺผาณิตํ (มธุ + ผาณิต) น้ำผึ้งและน้ำอ้อย
วิพฺภมติ (วิ+ภมติ) ย่อมหมุนไปผิดทาง
วิพฺภโม (วิ+ภม) การหมุนไปผิดทาง
อุพฺภตํ (อุ + ภต) หมุนไปคนละทาง
นิพฺภยํ (นิ+ภย) ไม่มีภัย
ทุพฺภโร (ทุ + ภร) คนเลี้ยงยาก
สพฺภาโว (สนฺต + ภาว) ความมีแห่งธรรมที่มีอยู่, มีธรรมนี้อยู่
อุสภสฺส ภาโว โอสพฺภํ (อุสภ + ณฺย) ความเป็นแห่งโค ชื่อว่า โอสพฺภ
ลพฺภติ (ลภ + ย + ติ) ย่อมถูกได้
อารพฺโภ (อา + รภ + ต) เริ่มแล้ว
อารพฺภ (อา + รภ + ตฺวา) ปรารภแล้ว
อารพฺภิตฺวา (อา + รภ + ตฺวา) ปรารภแล้ว

***********
ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น