วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๗๔. อ อาคม (ต่อ)

ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนีิ
คร้้งที่ ๗๔ : อาคมสนธิ การเชื่อมบทโดยการแทรกเสียง
มาดูเรื่องการใช้ สระ อ เป็นอาคมกันต่อนะครับ โดยมากแล้วตัวอย่างที่ท่านยกมาให้ศึกษาจะอยู่ในจะเป็นคำที่ใช้คาถาหรือบทฉันท์ในพระไตรปิฎกเป็นส่วนมาก ดังนั้น การใช้สนธิจึงมีอุปการะต่อการแต่งฉันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดเสียง เพิ่ม แปลง อักษร ที่ถือเป็นลีลาที่จัดเป็นองค์ความรู้ของผู้แต่งและผู้อ่านที่ควรเพิ่มพูนให้มากด้วยครับ
อุทาหรณ์ต่างๆ ที่มาในคัมภีร์ชาดกเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้าพยายามตรวจดูกับอรรถกถาเพื่อให้ได้นัยแห่งการเข้าสนธิตามที่คัมภีร์นี้ได้ยกมาอย่างสมเหตุสมผลครับ นอกจากนั้น เรื่องราวที่มาในชาดกและอรรถกถา ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตาม น่าสนใจศึกษาไม่ใช่น้อย ข้าพเจ้าบางครั้งอ่านอุทาหรณ์จนเพลิดเพลินลืมเรื่องไวยากรณ์ไปอย่างสนิทเลยครับ เอาละ นอกเรื่องมาพอแล้ว มาดูตัวอย่างการใช้ต่อ.

น จาปิ อปุนปฺปุนํ, หตฺถิโพนฺทิํ ปเวกฺขามิ   
แม้ข้าพเจ้าจะไม่เข้าไปสู่ซากช้างนั้นอีก
คำว่า อปุนปฺปุนํ คือ ปุนปฺปุนํ แปลว่า อีกครั้งหนึ่ง นั่นเอง เพราะ อ หน้า ปุนปฺปุนํ  เป็นอักษรอาคม ไม่มีความหมาย
อุทาหรณ์นี้มาในชาดกอีกเช่นกัน ท่านที่สนใจติดตามอ่านได้ในสิคาลชาดกและอรรถกถาชาดก [ขุ.ชา. ๑./๑๔๘] หรือแบบออนไลน์ที่นี่ครับ

http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=976&Z=980&pagebreak=0
----
อนวชฺชํ ไม่มีโทษ
คำนี้ตัดบทเป็น น + อวชฺชํ
ในคำว่า อนวชฺช  อ ที่ อวชฺช คัมภีร์อรรถกถาเรียกว่าเป็นนิบาตที่ไม่มีความหมาย ซึ่งคัมภีร์นิรุตติทีปนีใช้คำว่า ออาคม.
-----
อนมตคฺโค  มีที่สุดอันใครรู้ไม่ได้
คำนี้ ตัดบทเป็น น + อมตคฺโค  โดยคำว่า อมต มาจาก อ อาคม หน้า มตคฺโค ที่แปลว่า เบื้องปลายอันรู้แล้ว และเมื่อเข้าสมาสกับ น แปลว่า เบื้องปลายที่ไม่รู้แล้ว แปลง น เป็น อน เมื่ออยู่ในบทสมาส.
----
ชจฺจพธิโร       หนวกแต่กำเนิด.                    ตัดบทเป็น ชาติ + อ +พธิโร     
ชจฺจมูโค        ใบ้แต่กำเนิด.                        ตัดบทเป็น ชาติ + อ+ มูโค       
ชจฺจปณฺฑโก   เป็นบัณเฑาะก์แต่กำเนิด.          ตัดบทเป็น ชาติ + อ+ ปณฺฑโก  
---
ในคำว่า ชจฺจมูโค เป็นต้น คัมภีร์มณิสารมัญชูสา[1]ตัดบทเป็น ชาติยา อพธิโร โดย อ ที่ พธิโร เป็นปัจจัยที่ใช้ในตัพภาวัตถตัทธิต ใช้ในความหมายเดียวกับความหมายของศัพท์ที่ตนอาศัย เหมือนคำว่า อนวชฺช. ซึ่งในคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้เรียกว่า อ อาคม. แม้ในคำว่า ชจฺจปณฺฑก ก็น่ามีนัยนี้.

ชจฺจนฺโธ บอดแต่กำเนิด                         ตัดบทเป็น ชาติ +  อ +อนฺโธ
คำว่า ชจฺจนฺโธ ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็น ออาคม หรือ การลงอปัจจัยที่ไหน ท่านที่ทราบช่วยแนะนำด้วยครับ
สำหรับคำว่า อนามต ที่สัตว์ไม่เคยตาย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามต่อไปในคราวหน้าครับ

*********

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



[1] พธิโรว อพธิโร. ตพฺภาวตฺโถ หิ อยมกาโร, “อนวชฺชนฺติ เอตฺถ อกาโร วิย. ชาติยา อพธิโร ชจฺจพธิโร. ชจฺจมูคชจฺจชฬ-สทฺเทสุปิ เอเสว นโย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น