วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๓. การแปลงพยัญชนะ กวรรคและจวรรค (ต่อ)

ครั้งที่ ๒๘ : พยัญชนาเทสสนธิ คือ การเชื่อมบทโดยแปลงพยัญชนะ
“การแปลงพยัญชนะ กวรรคและจวรรค” (ต่อ)
*** กรณีพิเศษ ***
ถาม ถ้าพยัญชนะหน้า ย เป็นพยัญชนะที่สองของวรรค และเมื่อแปลง ย เป็นปุพพรูป ก็จะได้รูปที่ไม่พึงประสงค์ว่า ปโมขฺข เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำอย่างไรดี?
ตอบ “เมื่อแปลง ย เป็นปุพพรูปแล้ว ถ้าพยัญชนะที่อยู่ข้างหน้าตนเป็นพยัญชนะตัวที่สองของวรรค  แปลงพยัญชนะที่สองนั้นเป็น พยัญชนะตัวที่ ๑ ของวรรค.”
รูปอุทาหรณ์ที่เกิดจากการแปลงพยัญชนะที่แสดงมา จะสอดคล้องกับหลักการเขียนพยัญชนสังโยค ในภาษาบาฬี กล่าวคือ ตัวที่ ๑, ๓, ๕  จะเป็นต้วซ้อนของตัวเอง แต่ตัวที่ ๒ และ ที่ ๔ จะซ้อนหน้าตัวเองไม่ได้ ที่เคยกล่าวมาแล้ว. ปัญหาเกิดขึ้นว่า ในกรณีที่พยัญชนะตัวหน้าของ ย เป็นอักษรที่ ๒ และ ที่ ๔ จะทำอย่างไร ในเมื่อ ย จะต้องกลายเป็นปุพพรูปเช่น ขฺ + ย > ขฺข, ฆฺ + ย > ฆฺฆ, ฉฺ + ย > ฉฺฉ, ฌฺ + ย > ฉฺฉ ดังนี้เป็นต้น
ในเรื่องนี้ หลังจาก ย กลายเป็นปุพพรูปแล้ว พยัญชนะตัวหน้าที่เป็นพยัญชนวรรคลำดับที่ ๒ ให้แปลงเป็น พยัญชนวรรคลำดับที่ ๑ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นตัวที่ ๔ ให้แปลงเป็น พยัญชนะตัวที่ ๓ และสำเร็จรูปได้โดยไม่ข้อขัดแย้งแต่อย่างใด
ถาม มีหลักการใดที่จะทำได้เช่นนั้น
ตอบ ด้วยหลักการของสูตรนี้ คือ
๕๔. จตุตฺถทุติเยสฺเวสํ ตติยปฐมา
ถ้ามีอักษรที่ ๔ และ ที่ ๒ ของแต่ละวรรคอยู่หลัง อักษรตัวที่ ๓ และ ตัวที่ ๑ ในวรรคนั้นเป็นตัวซ้อนของอักษรที่ ๔ และ ที่ ๒ เหล่านั้น.
ในบางรูป ถ้าลง ยปัจจัยท้ายอักษรที่สองของวรรค (เช่น ขฺ ) และเมื่อแปลง ย เป็น ปุพพรูป (คือ ข เป็นต้น) ก็ให้แปลงอักษรที่สองของวรรคอันเป็นตัวหน้านั้นเป็นพยัญชนะที่ ๑ ของวรรค ด้วยสูตรนี้  เช่น
ปมุข + ณฺย (ปัจจัยในชาตาทิตัทธิต) = ปาโมขฺข > ปาโมกฺข
ย เป็น ข ปุพพรูป แล้ว แปลง ขฺ เป็น กฺ ตามหลักการนี้
[ปมุเข สาธุ ปาโมกฺขํ ความดี (หรือ ความควร, เหมาะสม) ในประธาน ชื่อว่า ปาโมกฺข.]

ท่านสาธชุนทั้งหลาย  ควรจดจำไว้ให้ดี เพราะในวรรคอื่นๆ ก็ยังต้องใช้หลักการนี้เช่นนี้.
วันนี้บรรยายมาพอสมควรแก่เวลา คราวหน้าจะกล่าวถึงตวรรคบ้าง

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช


……..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น