วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๗๘ : การลง อี อาคม

อี
สระ อี เป็น อาคม

กพฬีกาโร, มนสีกาโร, มนสีกโรติ, ตปฺปากฏีกโรติ, ทูรีภูโต, อพฺยยีภาโว ฯ
ตัวอย่าง
ปท
ปทจฺเฉท
คำแปลและอธิบายสังเขป
กพฬีกาโร
กพฬ + อี + กาโร
อาหารที่ถูกทำให้เป็นก้อน
มนสีกาโร,
มน + สิ (สฺมิ) + อี + กาโร
การทำไว้ในใจ การตั้งไว้ในใจ
มนสีกโรติ,
มน + สิ (สฺมึ) + อี + กโรติ
ย่อมทำไว้ในใจ, ย่อมตั้งไว้ในใจ
ตปฺปากฏีกโรติ,
ตปฺปากฏ + อี + กโรติ
ย่อมทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ
อพฺยยีภาโว
อพฺยย + อี + ภาโว
ความเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยน, อัพยยีภาวะ
ทูรีภูโตฯ
ทูร + ภูโต
สิ่งมีในที่ไกล


ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ครั้งที่ ๗๘ : การลง อี อาคม

เมื่อคราวที่แล้วได้ศึกษาเรื่องการลง อิ อาคม บัดนี้จะได้ศึกษาถึงที่มาของศัพท์เหล่านี้คือ กพฬีกาโร มนสีกาโร มนสีกโรติ ตปฺปากฏีกโรติ, อพฺยยีภาโว, ทูรีภูโต
คำศัพท์เหล่านี้ จะมี สระ อี แทรกอยู่ระหว่างบทหน้าและหลัง

กพฬีกาโร อาหารที่ถูกทำโดยความเป็นก้อน
กพฬ + อี + กาโร = กพฬีกาโร
ศัพท์นี้มาจาก กพฬ ที่แปลว่า ก้อน นำมาเข้าสมาสกับคำว่า กาโร สิ่งที่ถูกทำ ได้แก่ อาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อรวมเป็นบทเดียวกัน เพิ่มสระ อี  เป็นอักษรอาคมระหว่างกลางเป็น กพฬีกาโร แปลว่า อาหารที่ถูกทำโดยความเป็นก้อน ความหมายคือ อาหารที่ถูกแบ่งเป็น ๑ คำ หรือ ป้้นให้เป็นก้อนเพื่อสะดวกแก่การรับประทานนั่นเอง.
กพฬ คือ ก้อนข้าว
คัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา คาถา ๔๖๖ กล่าวถึงศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า ก้อนข้าว ว่า
อาโลโป กพโฬ ภเวฯ
ศัพท์ที่ใช้ความหมายของก้อนข้าวมี ๒ คือ อาโลป และ กพฬ
คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกา แสดงธาตุและปัจจัยของศัพท์นี้ไว้ ๓ นัย คือ[1]
๑. กุ ธาตุ ในอรรถว่า สทฺท ส่งเสียง + อล ปัจจัย เป็นนามกิตก์ คัมภีร์อภิธานวรรณนาแสดงรูปวิเคราะห์ว่า กวติ อเนนาติ กพโฬ คำข้าวที่ทำให้เสียงดัง ชื่อว่า กพฬ (วุทธิ อุ เป็น โอ, อาเทศ โอ เป็น อว, ว เป็น พ, ล เป็น ฬ.)
๒. มาจาก กพิ ธาตุ ในอรรถว่า วณฺณ สรรเสริญ + อล ปัจจัย (แปลง ล เป็น ฬ) คัมภีร์อภิธานวรรณนาให้รูปวิเคราะห์ว่า
กพิตพฺโพติ กพโฬ คำข้าวที่เขาสรรเสริญ ชื่อว่า กพฬ
๓. มาจาก ก = น้ำ เป็นบทหน้า + พล= กำลัง + ณ + อ ปัจจัย คัมภีร์อภิธานวรรณนา ให้รูปวิเคราะห์ว่า
เกน โตเยน พลมสฺสาติ กพโฬ. คำข้าวที่มีกำลังเพราะน้ำ ชื่อว่า กพฬะ
จะเห็นได้ว่า รูปวิเคราะห์ที่แสดงความเป็นไปของศัพท์ว่า กพฬ โดยคล้อยตามอรรถของธาตุและปัจจัย อันเป็นเหตุแห่งความเป็นไปของศัพท์ เรียกว่า สัททัปปวัตตินิมิต การถือเอาความหมายตามสัททัปปวัตตินิมิตนี้ เรียกว่า สัททัตถนัย แต่อย่างไรก็ตาม คำนี้ก็มีความหมายตามที่ชาวโลกเรียกกัน คือ ก้อนข้าว นั่นเอง
การแปลบางครั้ง ก็ควรถือเอาแต่ใจความเท่านั้นโดยไม่ต้องเพ่งบทพยัญชนะมากเกินไป ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า
พฺยญฺชเน อาทรํ อกตฺวา อธิปฺเปตเมว คเหตพฺพํ (กงฺขา. ๑๑๔) แปลว่า ไม่ต้องเอื้อเฟื้อในพยัญชนะ พึงถือเอาแต่ใจความเท่านั้น.  (จากหนังสือเรื่อง นานาสาระ โดยพระธัมมานันทมหาเถระ ธรรมาจริยะ)
มีตัวอย่างของคำว่า ก้อนข้าว นี้ในพระบาฬี เช่น
นาติมหนฺตํ กพฬํ กริสฺสามีติ สิกฺขา กรณียา (วิ. ๒/๒๕๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก.

ส่วนคำว่า กพฬีกาโร มาจาก กพฬ + กาโร และลงอีอาคมตามหลักการนี้ เป็น กพฬีกาโร แปลว่า อาหาร คือ ก้อนข้าว คัมภีร์ต่างๆ ก็ให้ความหมายว่า
กรียตีติ กาโร, กพโฬ กาโร กพฬีกาโร (มณิ.มญฺชู ๒/๑๓๔)
สิ่งอันบุคคลย่อมทำ ชื่อว่า กาโร, สิ่งอันบุคคลทำคือคำข้าว ชื่อว่า กพฬีการะ

กพฬํ กตฺวา อชฺโฌหริตพฺพโต กพฬีกาโร อาหาโร. (ม.อ. ๑/๒๑๑)
อาหาร คือ กพฬีการะ เพราะเป็นอาหารที่บุคคลพึงทำให้เป็นก้อนแล้วกลืนกิน.

กพฬํ กรียตีติ กพฬีกาโร. อภิ.อ. ๑/๓๖๖)
อาหารอันบุคคลย่อมทำให้เป็นคำข้าว ชื่อว่า กพฬีการะ

อสิตปีตขายิตสายิตปฺปเภโท กพฬีกาโร อาหาโรว อิมสฺมิํ อตฺเถ อาหาโรติ อธิปฺเปโต. (วิสุทฺธิ ๑/๓๓๖)
อาหารคือกพฬีการะ ที่ต่างโดยสิ่งที่กิน ดื่ม เคี้ยว และ ลิ้ม (ชิม) รส ท่านประสงค์ว่า อาหาร ในความหมายนี้

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
-----



[1] กพฬ (กุ + อล, กพิ + อล, ก + พล ธาน.ฎี. ๔๖๖) ๔๖๖. ทฺวยํ อาโลเปฯ ลุป เฉทเน, อาปุพฺโพ สมฺปิณฺฑเน, กุ สทฺเทฯ กพิ วณฺเณ วา, อโล, ฬตฺตํ, เกน โตเยน พลมสฺสาติ วา กพโฬ, ปุเม, คาโสปิฯ
(ธาน.๔๖๖ แสดงศัพท์ที่แสดงถึงก้อนข้าวไว้ ๒ คำ คือ อาโลป และ กพฬ. ในที่นี้ต้องการคำว่า กพฬ แปลว่า ข้าวที่มีกำลังด้วยน้ำ กุ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น