วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๘.มิสสกาเทส การแปลงอักษรที่คละกัน

มิสฺสกาเทโส วุจฺจเตฯ
ต่อไปนี้เป็นมิสสกาเทส (การแปลงอักษรที่คละกัน)[1]

อวสฺส อุตฺตํ 
อุทฺธมฺโมอุพฺพินโยอุปฺปโถอุมฺมคฺโคอุญฺญา อวญฺญาอุญฺญาตํ อวญฺญาตํอุชฺฌานสญฺญีฯ
อุ เป็นอาเทสของ อว เช่น

ปท
ปทจฺเฉท
คำแปลและอธิบายสังเขป
อุทฺธมฺโม
อวธมฺโม
ออกไปจากธรรม (นอกธรรม, ผิดธรรม)
อุพฺพินโย
อววินโย
ออกไปจากวินัย (นอกวินัย, ผิดวินัย)
อวปโถ
อุปฺปโถ
ออกไปจากทาง (นอกทาง, ผิดทาง)
อวมคฺโค
อุมฺมคฺโค
ออกไปจากทาง[2]
อวญฺญา
อุญฺญา
การดูหมิ่น
อวญฺญาตํ
อุญฺญาตํ
ผู้ถูกดูหมิ่น
อวฌานสญฺญี
อุชฺฌานสญฺญี
ผู้หมายจะเพ่งโทษ


 **************

ครั้งที่๕๔ มิสสกาเทส การแปลงอักษรที่คละกัน

ท่านสาธุชนทั้งหลาย หลังจากได้ศึกษาวิธีการเชื่อมบทเข้าด้วยกันโดยการแปลงอักษรต่างๆไปแล้ว ที่ผ่านมานั้นเป็นการแปลงพยัญชนะเป็นพยัญชนะ ล้วนๆ.  แต่ในอุทาหรณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ คัมภีร์นิรุตติทีปนีแสดงการแปลงอักษรที่คละกันโดยไม่เจาะจงว่าเป็นพยัญชนะหรือสระ เช่น แปลงสระคู่กับพยัญชนะเป็นสระ, แปลงสระเป็นพยัญชนะคู่, แปลงพยัญชนะคู่เป็นพยัญชนะคู่, นอกจากนี้ ยังรวมถึงการอาเทศแบบพิเศษ คือ การลดอักษร, เพิ่มอักษร อีกด้วย.
อุทาหรณ์เหล่านี้ ดูเผินๆ อาจมีรูปซ้ำกับคำศัพท์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจความหมายผิดไปจากความประสงค์ ดังนั้น คำแปลที่ข้าพเจ้านำมาไว้ในที่นี้ ได้พยายามตรวจสอบกับรูปจริงที่มาในพระบาฬีนั้นๆ โดยเทียบเคียงกับคำอธิบายของคัมภีร์อรรถกถาฎีกา เพื่อความถูกต้องตามความประสงค์ที่พระคันถรจนาจารย์ได้นำมาเป็นตัวอย่าง.
อย่างไรก็ตาม บางแห่งแม้จะมีเป็นรูปที่เกิดจากวิธีการที่กล่าวไว้ในที่นี้ แต่บางแห่งก็มีรูปที่ไม่ได้เกิดจากวิธีนี้ก็มีครับ ซึ่งข้าพเจ้าจะได้พยายามแยกแยะให้เห็นมากที่สุดเท่าที่สติปัญญาจะอำนวยครับ.
มาดูหัวข้อแรกที่ท่านกล่าวไว้นะครับ
อุ เป็น อาเทส ของ อว.
ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ว่า คำว่า อาเทส จะใช้ในสองกรณีคือ การแปลง และ เป็นตัวแปลง. ดังนั้น ถ้าใช้ในกรณีที่เป็นการแปลง ก็ควรจะกล่าวว่า “แปลง อว เป็น อุ” และ ถ้าใช้ในกรณีที่เป็นตัวแปลง ก็ควรจะกล่าวว่า “อุ เป็น อาเทส ของ อว” หรือ “ใช้ อุ แทน อว” ก็ได้ครับ

อุทฺธมฺโม   อวธมฺโม                 ออกไปจากธรรม (นอกธรรมผิดธรรม)
อุพฺพินโย = อววินโย                 ออกไปจากวินัย (นอกวินัยผิดวินัย)
อวปโถ     อุปฺปโถ                  ออกไปจากทาง (นอกทางผิดทาง)
อวมคฺโค   อุมฺมคฺโค                 ก. ออกไปจากทาง 
ข. การไปด้วยปัญญาปัญญา
ค. การดำลงไปในน้ำ 
อวญฺญา   = อุญฺญา                   การดูหมิ่น
อวญฺญาตํ  = อุญฺญาตํ                 ผู้ถูกดูหมิ่น
อวฌานสญฺญี อุชฺฌานสญฺญี       ผู้หมายจะเพ่งโทษ

สำหรับ อุ หรือ อว ที่อยู่หน้าบทนี้ทำให้ความหมายของบทนั้นเปลี่ยนไป เพราะความเป็นอุปสัค ตามลักษณะของอุปสัค กล่าวคือ เป็นศัพท์ที่เข้าไปอยู่ใกล้กับนามหรือกิริยาแล้วปรุงแต่งความหมายของนามหรือกิริยานั้น
ท่านทั้งหลายสังเกตตัวอย่างเหล่านี้
คำว่า อุทฺธมฺโม เดิมก็มาจาก อวธมฺโม อุพฺพินโย ก็มาจาก อววินโย
ทั้งสองศัพท์นี้ ท่านยกมาจากคัมภีร์พระบาฬี ดังนี้

อิติปิทํ วตฺถุ อุทฺธมฺมํ อุพฺพินยํ อปคตสตฺถุสาสนํ (วิ.จู๗/๖๕๒).
แม้เพราะเหตุนี้ วัตถุนี้ จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์

คำว่า อุทฺธมฺม ที่กลายมาจาก อวธมฺม และ อุพฺพินย ที่กลายมาจาก อววินย ความหมายคือ อปคต ที่แปลว่า ออกไป (หลีกเลี่ยง) หรือ อุคฺคต นอกเหนือไปจากธรรม จากวินัย ก็คือ เป็นการปฏิบัติโดยประการที่จะทำลายพระศาสนาของพระศาสดานั่นเอง.

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ
อุมฺมคฺค ศัพท์นี้ เมื่อว่าโดยพื้นฐานของศัพท์ที่มีอุปสัค ก็ควรแปลว่า ออกนอกทาง เพราะ มคฺค แปลว่า ทางไป และ อุ ที่มาจาก อว ทำให้มีความหมายว่า ออกไปนอกหนทาง จัดเป็นความหมายของอุทาหรณ์ที่ต้องการในที่นี้
แต่บางแห่งหมายถึง การผุดขึ้น เช่น
ยถา โข อิมสฺส มจฺฉสฺส อุมฺมคฺโค ยถา จ อูมิฆาโต ยถา จ เวคายิตตฺตํปริตฺโต อยํ มจฺโฉนายํ มจฺโฉ มหนฺโตติ (อัง.จตุ. ๒๑/๑๙๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาเล็กๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบได้ว่า กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน
และมีการยักศัพท์เอามาใช้ในความหมายว่า ปัญญา เพราะความหมายว่า ผุดขึ้น ก็มี เช่น
สาธุ สาธุภิกฺขุ! ภทฺทโก โข เตภิกฺขุอุมฺมคฺโค ภทฺทกํ ปฏิภานํ. (อัง.จตุกก ๒๑/๑๘๖)
ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง
อุมฺมคฺค ในที่นี้ หมายถึง ปัญญา ดังอรรถกถาของสูตรนี้ว่า
อุมฺมคฺโคติ อุมฺมุชฺชนํปญฺญาคมนนฺติ อตฺโถฯ ปญฺญา เอว วา อุมฺมุชฺชนฏฺเฐน อุมฺมคฺโคติ วุจฺจติฯ
บทว่า อุมฺมงฺโค ได้แก่ ผุดขึ้น. อธิบายว่า ไปด้วยปัญญา. อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานั่นเอง เรียกว่าอุมมังคะ เพราะอรรถว่า ผุดขึ้น.
          ดังนั้น อุ ในความหมายหลังนี้ ไม่น่าจะกลายมาจาก อว  จึงไม่ใช่ตัวอย่างที่ประสงค์เอาในการแปลง อว เป็น อุ.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



[1] มิสสกาเทส คือ การแปลงอักษรที่คละกันไม่เจาะจงว่าเป็นพยัญชนะหรือสระ เช่น แปลงสระคู่กับพยัญชนะเป็นสระ, แปลงสระเป็นพยัญชนะคู่, แปลงพยัญชนะคู่เป็นพยัญชนะคู่, ลดอักษร, เพิ่มอักษร.
[2] สํ.นิทาน.อ.๑๐๔.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น