วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๗๙.อี อาคม

ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี
ครั้งที่ ๗๙ : การลง อี อาคม

ติดตามสูตรนิรุตติทีปนี ที่นี่ 
http://niruttitepanee.blogspot.com/2016/05/blog-post_17.html

มนสีกาโร การทำไว้ในใจ,
มาจาก มน + สิ (สฺมิํ) + อี อาคม + กาโร
มน ศัพท์เป็นศัพท์ที่เรียกว่า มโนคณะ คือ อยู่ในกลุ่มศัพท์มีมนเป็นลำดับแรก ในกรณีที่เป็นมโนคณศัพท์ สฺมิํ จะกลายเป็น สิ โดยแน่นอน เพราะเป็นลักษณะของมโนคณศัพท์ และเมื่ออยู่ในคาถาที่ถูกฉันทลักษณ์กำหนด อาจลง อี อาคม เพื่อให้มีเสียงตามที่ถูกกำหนดไว้ แล้วสำเร็จรูปโดยการลบสระอิ ที่ สิ จึงได้รูปเป็น มนสีกาโร ดังพระบาฬีนี้ว่า
 ‘‘ตโต เม มนสีกาโร, โยนิโส อุทปชฺชถ;
อาทีนโว ปาตุรหุ, นิพฺพิทา สมติฏฺฐถฯ
เพราะฉะนั้นการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย จึงบังเกิดขึ้นแก่เรา อาทีนวโทษปรากฏแก่เรา ความเบื่อหน่ายก็ตั้งลงมั่น
 (ขุ.เถร. ๒๖/๓๒๓ นาคสมาลเถรคาถา)
คัมภีร์อรรถกถาแก้ มนสีกาโร เป็น มนสิกาโร และพรรณนาความคิดของพระเถระว่า
มนสีกาโร โยนิโส อุทปชฺชถาติ ‘‘อยํ อฏฺฐิสงฺฆาโต นฺหารุสมฺพนฺโธ มํเสน อนุปลิตฺโต ฉวิยา ปฏิจฺฉนฺโน อสุจิทุคฺคนฺธเชคุจฺฉปฏิกฺกูโล อนิจฺจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺโม อีทิเส วิกาเร ทสฺเสตี’’ติ เอวํ โยนิโส มนสิกาโร อุปฺปชฺชิฯ
การคิดอย่างนี้คือ ร่างกระดูกนี้อันเอ็นเกี่ยวพันไว้ อันเนื้อฉาบทาไว้ อันผิวหนังปิดบังไว้ ไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดและปฏิกูล มีอันปิดบัง ย่ำยี ทำลาย กำจัดความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา จึงแสดงอาการอันแปลกเช่นนี้. 
-----

อนึ่ง ลักษณะของมโนคณศัพท์ในข้อนี้ จะต่างจากไปจากวิธีกาของกัจจายนไวยากรณ์ กล่าวคือ
ในกัจจายนไวยากรณ์ และปทรูปสิทธิ ให้แปลง สฺมิํเป็น อิ แล้วลง ส อาคม ด้วยสูตร (๑๘๑, ๙๕. มโนคณาทิโต สฺมิํนานมิอาฯ และ สูตร ๑๘๔, ๙๖. ส สเร วาคโมฯ)
แต่ในโมคคัลลานไวยากรณ์และนิรุตติทีปนี ให้แปลง สฺมิํ เป็น สิ ด้วยสูตร ๑๔๔. มนาทีหิ สฺมิํสํนาสฺมานํ สิโสโอสาสาฯ ท้ายมนศัพท์เป็นต้น แปลง สฺมิํ เป็น สิ, ส เป็น โส, อํ เป็น โอ, นา เป็น สาและสฺมา เป็น สา ได้บ้าง.
แต่นิรุตติทีปนีเองในตอนว่าด้วยการลง ส อาคม กลับแสดงว่า ท้ายมนศัพท์เป็นต้น สามารถ ลง ส อาคมในเพราะ สระข้างหลังได้ เช่น มนสิกาโร.  (มหาวุตฺติวิธานมุจฺจเตฯ สเร ปเร มนาทีหิ สาคโม มนสิกาโร, มานสิโก, เจตสิโก,) เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าถ้าไม่ต้องการใช้สูตรโมคคัลลานไวยากรณ์ดังกล่าวมาแล้ว สามารถสร้างรูป มนสิ โดยมาจาก มน+อิ ในเพราะ อิ ข้างหลังลง สฺ อาคม ด้วยมหาสูตร.
สรุปว่า มนสิกโรติ มนสิกาโร มีแนวทางทำได้สองวิธีคือ แปลง สฺมิํ เป็น สิ ด้วยสูตรว่า มนาทีหิ สฺมิํสํนาสฺมานํ สิโสโอสาสาฯ (โมคฺ สฺยาทิ. ๑๔๔) หรือ จะให้แปลง สฺมิํ เป็น อิ แล้วลง สฺ อาคม ด้วยมหาสูตร.

ตัวอย่างอื่นก็มีนัยนี้  เช่น
มนสีกโรติ ย่อมทำไว้ในใจ (มน + สฺมิํ + กโรติ)
ตปฺปากฏีกโรติ ย่อมทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ (ตปฺปากฏ + อี + กโรติ)
อพฺยยีภาโว อัพยยีภาวสมาส (อพฺยย + อี + ภาโว)
ทูรีภูโต สิ่งที่อยู่ในที่ไกล (ทูร + อี + ภาโว)

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น