วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๑.แปลง พยัญชนะ กวรรค และ จวรรค

‪#นิรุตติทีปนีแปลเพื่อศึกษาร่วมกัน๒๖ :
พยัญชนาเทสสนธิ คือ การเชื่อมบทโดยแปลงพยัญชนะ

“การแปลงพยัญชนะ กวรรคและจวรรค”

พยัญชนาเทสสนธิ ในวันนี้ จะเสนอการเชื่อมบทในกวรรคและจวรรคโดยอาศัย ย เป็นตัวกำหนด
ในกวรรคและจวรรค ยพยัญชนะ จะกลายเป็นพยัญชนะหน้าตัวเอง. ต่อไปนี้จะเรียกการกลายเป็นพยัญชนะหน้าตัวเองว่า “ปุพพรููป”.  ดังนั้น ถ้าอยู่หลังพยัญชนะ ๒๗ ตัวต่อไปนี้ คือ
พยัญชนวรรคทั้ง ๒๕ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง ฯลฯ ป ผ พ ภ ม,
พยัญชนอวรรคอีก  ๒ ตัว คือ ล และ ส..
ให้แปลง ย เป็นปุพพรูป ด้วยสูตรนี้

------------

หลักการ : สูตรกำกับหลักการ
๔๓. วคฺคลเสหิ เตฯ
ย ที่อยู่หลัง พยัญชนวรรค , ล และ ส ให้แปลง ย เป็นพยัญชนะวรรค ล และ ส เหล่านั้น

----------------

หลักเกณฑ์ : คำขยายความและข้อกำหนดของสูตร

ปญฺจวคฺเคหิ จ ลเสหิ จ ปรสฺส ย-การสฺส กฺวจิ เต เอว วคฺค ลสา โหนฺติ วา ยถากฺกมํ,  ย-กาโร ปุพฺพรูปตฺตํ อาปชฺชตีติ วุตฺตํ โหติฯ
บางแห่ง มีการแปลง ย พยัญชนะ ที่อยู่ท้ายพยัญชนะวรรคทั้ง ๕ รวม ๒๕ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง ฯลฯ ป ผ พ ภ ม, พยัญชนอวรรค ๒ ตัว คือ ล และ ส  รวมทั้งหมดเป็น ๒๗ ตัว เป็นพยัญชนะ ก ข ค ฆ ง เป็นต้นนั่นแหละ ไปตามลำดับ.
วิธีการเช่นนี้ เรียกว่า แปลง ย เป็น ปุพพรูป. คือ ทำให้ ย เป็นรูปเดียวกับหรือเหมือนกับพยัญชนะตัวหน้าของตน.  

------------------
หลักการใช้ : ตัวอย่างการใช้
จะแสดง กวรรค และ จวรรคไปพร้อมกัน สังเกตที่รูปสำเร็จจะเป็นพยัญชนวรรคทั้งสองนี้ เช่น
นิปก + ณฺย > เนปกฺกํ = ปัญญา.

แนวทางสังเกตวิธีการสำเร็จรูปศัพท์นี้

- ลบ อ ท้าย นิปก เพราะ ณฺย ปัจจัยข้างหลัง (สูตร ๔๓๖ โลโปวณฺณิวณฺณานํ เพราะณฺยปัจจัยอยู่หลัง ลบ อ วัณณะ และ อิวัณณะ) ทำตามขั้นนี้แล้วเป็น นิปกฺณฺย

- ลบ ณฺ เพราะเป็นอนุพันธ์ที่ไม่ต้องใช้ในประโยค และ ณฺ อนุพันธ์นี้ มีความหมายว่า ให้วุทธิสระหน้าบท ด้วยสูตร ๔๓๑. ปทานมาทิสฺสายุวณฺณสฺสาเอโอ ณานุพนฺเธ เพราะณอนุพันธ์อยู่หลัง วุทธิ อ วัณณะและ อุวัณณะ ต้นบทเป็น อา เอ และโอ) ทำตามขั้นนี้แล้ว เป็น เนปกฺย
ทำตาม ๒ ขั้นนี้แล้ว  แปลง ย เป็น ก ปุพพรูป  = เนปกฺก ]

ความรู้เพิ่มเติม : จากคัมภีร์นิรุตติทีปนี และ คัมภีร์อื่นๆ
คัมภีร์นี้ให้รูปวิเคราะห์ศัพท์นี้ว่า
นิปจฺจตีติ นิปโก, นิปกสฺส ภาโว เนปกฺกํ,
ผู้ใดย่อมยังกิเลสย่อมให้สิ้นสุดลง ชื่อว่า นิปโก ได้แก่ ผู้มีปัญญา,  ปจ พยนฺตีกรเณ ในอรรถว่า ทำให้สิ้นสุด + ย ปัจจัย. ความเป็นแห่งผู้มีปัญญา ชื่อว่า เนปกฺก คือ ปัญญานั่นแหละ.

 (แตในคัมภีร์ฎีกาทั้งหลาย เช่น มัชฌิมฎีกา ให้มาจาก เป วิโสสเน เหือดแห้ง, หรือ ปา รกฺขเณ รักษา ธาตที่มีอรรถว่า รักษา  + ณฺวุ ปัจจัย = นิปก วิ. นิปยติ วิโสเสติ ราคาทิสํกิเลสํ, ตโต วา อตฺตานํ นิปาตีติ นิปโก, ปญฺญวาฯ ผู้ทำใหสังกิเลสมีราคะเป็นต้นให้เหือดแห้ง , หรือ ผู้รักษาตนจากสังกิเลสนั้น ชื่อว่า นิปกะ คือ ผู้มีปัญญา

แต่ในบางแห่ง หมายถึง สติ เช่น สังยุตตฎีกา มหาวรรค กล่าวถึงบุคคลผู้มีสติมั่นคงและคมกล้าคือ ผู้ทำกิเลสให้เหือดแห้ง ชื่อว่า นิปก. โดยให้วิเคราะห์ว่า นิปายติ สํกิเลสธมฺเม วิโสเสติ นิกฺขาเมตีติ นิปโก, ถิรติกฺขสติปุคฺคโล, ตสฺส ภาโว เนปกฺกนฺติ สติยาปิ เนปกฺกภาโว ยุชฺชเตวฯ ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีสตินั้น ชื่อว่า เนปกฺกํ (สํ.ฎี. มหา. ปฐมวิภงฺคสุตฺต ๔๗๙). กรณีนี้ได้แก่สติแต่โดยอ้อมเพราะสติจะมั่นคงและเป็นสภาพแก่กล้าพอที่จะย่ำยีกิเลสได้ ก็ด้วยประกอบกับปัญญานั้นนั่นเอง.)

****************

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น