วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๐ เริ่ม พยัญชนาเทสสนธิ

‪#นิรุตติทีปนีแปลเพื่อศึกษาร่วมกัน๒๕
อาเทสสนธิ พยัญชนาเทสสนธิ เชื่อมบทโดยแปลงพยัญชนะเป็นอีกพยัญชนะหนึ่ง
“ก่อนจะไปต่อ
ท่านทั้งหลายที่ติดตามอ่านแนวทางการทำสนธิ (เชื่อมบท) ของคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้ จะพบว่า ท่านแสดงสนธิตามประเภทสนธิกิริโยปกรณ์ คือ
ทีฆสนธิ รัสสสนธิ วิการสนธิ อาเทสสนธิ อาคมสนธิ ทวิภาวสนธิ (ซ้อนหรือสัญโญค) วิปัลลาสสนธิ (สลับหน้าหลัง) แล้วจำแนกภายในสนธินั้นออกเป็น สรสนธิ พยัญชนสนธิ มิสสกาสนธิ นิคคหีตาสนธิ ตามควร.  การจัดกลุ่มเช่นนี้ ต่างไปจากแนวทางการจัดของกลุ่มไวยากรณ์สายกัจจายนะ และสัททนีติ ที่จัดเป็นสรสนธิ พยัญชนสนธิและนิคคหิตสนธิ ก่อนแล้วแยกภายในสนธิดังกล่าวออกตามสนธิกิริโยปกรณ์.
การศึกษาวิธีการสำเร็จรูปคำศัพท์ตามหลักไวยากรณ์บาฬีจากคัมภีร์นี้ื แม้มีหลักการที่ไม่ต่างไปจากคัมภีร์กลุ่มกัจจายนไวยากรณ์เท่าไรนัก แต่มีส่วนหนึ่งที่ดำเนินวิธีการที่แตกต่างไป บางรูุปแม้สำเร็จรูปเป็นอุทาหรณ์เดียวกัน แต่ขั้นตอนซับซ้อนมากกว่ากัจจายนไวยกรณ์ แต่บางรูปก็มีความกระชับกว่า นอกจากนี้ เนื่องจากบางรูปอุทาหรณ์ในพระบาฬีและอรรถกถา ถูกนำมาแสดงไว้ในคัมภีร์นี้เพิ่มเติมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ นิรุตติทีปนีที่อ้างอิงสูตรกำกับหลักการของคัมภีร์โมคคัลลานไวยากรณ์ จึงเป็นแนวทางที่น่าศึกษาเพื่อบรรเทาความสงสัยรูปอุทาหรณ์ในพระบาฬีได้อย่างดีเยี่ยม.
เมื่อได้แสดงการเข้าสนธิโดยอาเทสวิธี ที่เป็นสราเทส คือ แปลง สระเป็นพยัญชนะ ด้วยสูตรต่างๆ และที่ไม่มีสูตรกำกับโดยเฉพาะแล้ว  ต่อไปนี้เป็น พยัญชนาเทสะ คือ แปลง พยัญชนะเป็นพยัญชนะ


**********

การเชื่อมบทสองบทเข้าด้วยกัน อาจทำได้หลายวิธี เช่น ลบ ทำเป็นเสียงยาว ทำเป็นเสียงสั้น กลายเสียงการงอกเสียง การหดเสียง การใช้อักษรตัวอื่นแทน เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นที่สระหรือพยัญชนะ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. คราวนี้ จะแสดงการใช้อักษรอื่นแทนพยัญชนะตัวที่ต้องการ โดยจะเริ่มพยัญชนวรรค จนถึง พยัญชนอวรรคเป็นลำดับไป.

************
การใช้อักษรหนึ่งแทนอักษรอีกตัวหนึ่ง ในวงการศึกษาบาฬีไวยากรณ์นิยมใช้คำว่า อาเทศ เป็นคำทับศัพท์บาฬี.  คำว่า อาเทศ แปลว่า ตัวที่นำมาแสดงแทน และอาจใช้ในความหมายว่า การแทน. ส่วนในภาษาไทยใช้คำว่า แปลง ซึ่งครอบคลุมความหมายทั้งสองนั้น.  ในที่นี้จะใช้คำว่า แปลง เป็นหลัก. แต่ในบางแห่งจะใช้คำว่า “ใช้ .. แทน ..” เช่น ใช้ ต แทน ส เป็นต้น ความหมายคือ แปลง ส เป็น ต ดังนี้เป็นต้น.
ในการเชื่อมบทโดยแปลงพยัญชนะ เรียกว่า พยัญชนาเทสสนธิ  พอสรุปหลักการได้ ๒ ประเด็นคือ
๑. มี ย พยัญชนะ เป็นเงื่อนไข.
๒. ไม่ต้องมี ย พยัญชนะ เป็นเงื่อนไข หมายถึง แปลงตัวพยัญชนะล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ ย พยัญชนะเลย.

**************
๑. แปลงพยัญชนะ โดยมี ย พยัญชนะ เป็นเงื่อนไข.
บรรดาหลักการ ๒ ประการนั้น จะศึกษาประเด็นที่ ๑ ก่อน.
การมี ย พยัญชนะเป็นเงื่อนไข หมายถึง ยนั่นเองเป็นเงื่อนไข คือ เป็นตัวกำหนดให้มีการแปลงทั้งพยัญชนะตัวอื่น รวมทั้งตัวเองด้วย. ดังนั้น ในประเด็นที่ ๑  จึงถูกแยกย่อยออกไปเป็น ๒ ประเด็นอีก คือ
ก. แปลง ย พยัญชนะเป็นพยัญชนะตัวหน้าของตน ถ้ามีพยัญชนวรรคทั้งหมดและพยัญชนอวรรคบางตัวอยู่หน้า
ข. ย พยัญชนะเป็นเหตุให้แปลงพยัญชนะตัวอื่น
คัมภีร์่นิรุตติทีปนีนำสูตรแสดงวิธีการจากคัมภีร์โมคคัลลานพยากรณ์ มาเรียบเรียงเป็นลำดับสูตรใหม่ เพื่อแสดงวิธีการทั้งสองที่เป็นไปในพยัญชนวรรคและพยัญชนอวรรค.  ดังนั้น ในบทความนี้จะนำเสนอสาระโดยเริ่มที่พยัญชนวรรคมี กวรรคเป็นต้น ไปจนถึง อวรรคพยัญชนะตามสมควรแก่วิธีการทั้งสอง.

*************
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น